วิธีที่เราจะปลดปล่อยใจของเราให้พ้นจากอาสวกิเลสได้ พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้ภาวนาไป เจริญสติปัฏฐานนี่ล่ะ จนกระทั่งจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะความไม่ถือมั่น คีย์เวิร์ดมันอยู่ตรงที่ “ไม่ถือมั่น” เพราะฉะนั้นคำว่า “ไม่ถือมั่น” ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น มันจะเป็นหัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นในขันธ์ 5 ในกายในใจของเราได้ โดยเฉพาะไม่ยึดมั่นในจิตได้ เราก็ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ก็คือการที่เราเห็นความจริงของจิตใจตัวเอง เราจะเห็นความจริงของจิตใจตัวเองได้ เราก็อย่าไปคิดเอาว่าจิตเป็นอย่างไร แล้วก็อย่าไปแทรกแซง อย่าไปบังคับจิต ให้รู้สึกเอา จิตของเราสุขให้รู้ จิตของเราทุกข์ให้รู้ จิตเป็นกุศลให้รู้ จิตโลภ โกรธ หลงอะไร ให้รู้ ตามรู้ตามเห็นไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเห็นความจริงอันหนึ่งก็คือเห็นไตรลักษณ์ บางท่านภาวนาก็เห็นขันธ์ 5 ไม่เที่ยง บางท่านเห็นว่ามันเป็นทุกข์ คือถูกบีบคั้นให้แตกสลาย บางท่านเห็นมันเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ขันธ์ 5 ก็เป็นแค่สภาวธรรมเท่านั้นเอง เป็นสิ่งที่มีอยู่ แต่ว่ามีเหตุให้เกิดขึ้นมา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 24 กุมภาพันธ์ 2567 (ช่วงบ่าย)

Direct download: 670224B.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

วัดที่ใจของเรานี้ ตาเห็นรูป ใจเราเปลี่ยนแปลง เราเห็นขณะที่มันเปลี่ยนแปลงไป นี่ล่ะปัจจุบันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่เมื่อวานจิตเป็นอย่างนี้ วันนี้จิตเป็นอย่างนี้ อันนี้คิดเอา ไม่ได้เห็นเอา ไม่ใช่ทัสสนะ ไม่เกิดญาณทัสสนะ แต่เกิดการคิด คิดเอา เมื่อวานกับวันนี้ไม่เหมือนกัน แสดงว่าไม่เที่ยง อันนี้ยังไม่ใช่วิปัสสนา วิปัสสนาต้องใช้ทัสสนะ ใช้การเห็นเอา เห็นรูปเห็นนามอย่างที่เขาเป็น เขาเป็นอะไร เขาเป็นไตรลักษณ์ ตาเห็นรูป ใจเรามีความสุข ใจเราเกิดราคะ เรารู้ทัน อย่างนี้เรียกว่าเรารู้ปัจจุบันแล้ว หูได้ยินเสียง ใจเรามีความทุกข์ ใจเราเกิดโทสะ เรารู้ทัน มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจก็รู้ มีโทสะในใจเกิดขึ้นก็รู้ นี่เรียกเรารู้ปัจจุบันแล้ว คอยวัดใจตัวเองไปเรื่อยๆ ใจเรามีแต่ความเปลี่ยนแปลง ไม่มีความคงที่ แล้วไม่ต้องไปฝึกให้ใจคงที่ ใจจริงๆ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็ไม่ว่ามัน ให้มันเคลื่อนไหวไป ขอแค่มีสติตามรู้ตามเห็น แล้วต่อไปปัญญามันเกิด จะรู้เลย จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว เกิดแล้วดับ ทีแรกก็เห็นแต่ละอย่างเกิดแล้วดับ แต่ละอย่างเกิดแล้วดับ ตอนที่จะได้มรรคได้ผล มีปัญญารวบยอด จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ ไม่ใช่จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง เกิดแล้วดับ เหมือนที่ตอนที่ฝึกหรอก มันรู้ว่าทุกสิ่งที่เกิดมันดับทั้งสิ้น ค่อยๆ ฝึก วัดใจตัวเองให้ออก แล้วเราจะได้ของดีของวิเศษ ของดีของวิเศษไปขอใครไม่ได้ ต้องทำเอาเอง หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 24 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670224A.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

คำสอนของพระพุทธเจ้า จะอยู่ในกฎของคำว่า ให้รู้ทุกข์ ให้รู้ทุกข์ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น รู้ไปเรื่อยๆ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน คอยรู้สึกตัวไว้ ร่างกายที่ทำไมต้องยืน ต้องเดิน ต้องนั่ง ต้องนอน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องหายใจเข้า ต้องหายใจออก ทำไมมันต้องกินข้าว ทำไมมันต้องขับถ่าย ทำไมมันต้องดื่มน้ำ ทำไมต้องปัสสาวะ เพื่อหนีทุกข์ไปเรื่อยๆ เพราะในความเป็นจริงแล้ว มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา จิตใจเที่ยวแสวงหาความสุข ก็เพราะว่าอยากหนีทุกข์ ความเป็นจริงก็คือจิตใจมันไม่เคยให้ความอิ่มความเต็มกับเราหรอก มันขาดมันบกพร่องอยู่ตลอดเวลา ความหิวในใจเราไม่รู้จักสิ้นสุด ที่มันหิว มันหิวอะไร มันอยากให้กายให้ใจเป็นสุข มันอยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ ความอยากทั้งหลายที่เรามี มันก็ลงมาอยู่ รวมลงมาตรงที่อยากให้กายให้ใจมีความสุข อยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ แต่ถ้าเราเห็นความจริง กายนี้คือทุกข์ ใจนี้คือทุกข์ ไม่ใช่ของวิเศษหรอก เราอาศัยมันชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ยึดถือ เราก็จะไม่ทุกข์เพราะกายเพราะใจ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 19 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670219.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

สิ่งที่เราจะต้องพัฒนาขึ้นมาคือสติ ไม่ใช่พัฒนาว่าจะนั่งอย่างไร จะเดินอย่างไร จะกำหนดจิตอย่างไร ไปกำหนดมันทำไม จิตมันเป็นอย่างไร ก็รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตโลภโกรธหลงก็รู้ จิตเป็นกุศลก็รู้ ไม่เห็นต้องไปกำหนดอะไรเลย ต้องกำหนดไหมถึงจะโกรธ กำหนดแล้วไม่โกรธได้ไหม ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง ฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องฝึกให้มากคือสติ หลักสูตรในการฝึกสติ พระพุทธเจ้าวางไว้แล้ว เรียกว่าสติปัฏฐาน สติปัฏฐานเป็นวิธีฝึกให้เรามีสติในเบื้องต้น แล้วสติปัฏฐานเมื่อเรามีสติแล้ว เราปฏิบัติต่อไป เราจะเกิดปัญญา ฉะนั้นสติปัฏฐานมี 2 ระดับ เบื้องต้นทำให้เกิดสติ เบื้องปลายทำให้เกิดปัญญา เมื่อจิตเกิดปัญญารู้ความจริงของกายของใจแจ่มแจ้งแล้ว วิมุตติมันจะเกิด หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช บ้านจิตสบาย 18 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670218.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เราฟังแล้ว เราก็ไปลงมือทำ ถ้าเดินอย่างที่หลวงพ่อบอกนี่ เดินครบทุกขั้นทุกตอน ตามลำดับมาเลย ทำสมถะให้จิตมีกำลัง ทำสมถะให้จิตตั้งมั่น แล้วเจริญปัญญา เห็นความจริงของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณคือจิตนั้นล่ะ มันเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดูไปเรื่อยๆ ต่อไปก็พบว่า ไม่มีเราตรงไหนเลย รูปไม่ใช่เรา เวทนา สัญญา สังขาร ไม่ใช่เรา จิตก็ไม่ใช่เรา ตรงนั้นล่ะเราจะได้ธรรมะแล้ว ได้โสดาบันแล้ว วันนี้เทศน์ตามลำดับขั้นตอน ครบทั้งหลักสูตรเลย แต่บางคนเรียนข้ามขั้นได้ อย่างหลวงพ่อไม่ได้เริ่มจากรูป หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อตัดเข้าที่จิตเลย แล้วหลวงพ่อดูจิตที่จิต หลวงพ่อเห็นเวทนาทางใจ เห็นสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วทางใจ แล้วเห็นจิตเป็นผู้รู้ เป็นผู้หลง ตัดเข้ามาตรงนี้เลย ก็ย่นย่อหน่อย ถ้าดูเข้ามาตรงนี้ไม่ได้ ก็ดูร่างกายถูกรู้ ไม่ใช่เรา ดูไป เวทนาทางกายถูกรู้ ไม่ใช่เรา ไล่ไปอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็เจอจิตจนได้ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 17 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670217.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

นักปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่ทิ้งงาน มีงานต้องทำ มีหน้าที่ต้องทำแล้วก็ทิ้ง กะว่าจะปฏิบัติ พอถึงเวลาปฏิบัติ บางคนอยากปฏิบัติต้องไปอยู่วัด ทิ้งงานไปอยู่วัด พอไปอยู่ที่วัดก็คิดถึงงาน เอาดีไม่ได้สักที่หนึ่งเลย งานทางโลกก็ไม่ได้เรื่อง งานทางธรรมก็ไม่ได้เรื่อง เป็นฆราวาสต้องปฏิบัติให้ได้ ไม่ใช่จะมารอออกมาบวชแล้วถึงจะปฏิบัติ ถ้าคิดอย่างนั้นยังต่ำต้อยมากเลย เรียกต่ำต้อยไม่ถูก ต้องเรียกต่ำตม อยู่ใต้ตมเลย ไม่ใช่บัวพ้นน้ำ เป็นบัวต่ำตม ฉะนั้นแยกให้ออก มีหน้าที่ทางโลกอะไรบ้าง หน้าที่ทำมาหากิน หน้าที่ดูแลครอบครัว หน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่ เลี้ยงดูลูก เลี้ยงดูบุตร ภรรยา สามี หน้าที่มี หน้าที่ต่อหน่วยงาน อยู่ที่หน่วยงาน ต้องทำงาน ภักดีต่อองค์กร เลือกงานๆ ที่มันไม่สกปรก แล้วก็ทำหน้าที่ของเราในทางโลกให้เต็มที่ แล้วเวลาในทางธรรม งานทางโลก ถ้าเป็นงานสุจริต จะไม่เบียดบังการปฏิบัติของเราหรอก ภาวนาไป เราเป็นฆราวาส อย่าทิ้งทั้งทางโลกทั้งทางธรรม เราถึงจะเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ถ้ามีแต่ทางโลก มันก็เหมือนคนศาสนาอื่น ไม่แปลกอะไร จะเอาแต่ทางธรรม ก็เรียกคนไม่รู้จักหน้าที่ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 11 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670211.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เวลาฟังธรรมะ ฟังซื่อๆ ไม่ต้องตีความมาก ฟังไปคิดไปมันก็เรียนปริยัติล่ะถ้าอย่างนั้น เราจะฟังธรรมะได้แล้วรู้เรื่องดี ถ้าจิตของเราเป็นกุศล มหากุศลจิต ลหุตา เบา มุทุตา นุ่มนวล ปาคุญญตา คล่องแคล่วว่องไว ไม่เซื่องซึม กัมมัญญตา ควรแก่การงาน ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน อุชุกตา รู้ซื่อๆ ถ้าใจเราเป็นอย่างนี้ ใจอย่างนี้รับธรรมะง่าย ฉะนั้นเราปรับจิตใจของเรา ให้มันเป็นกุศลไว้ก่อน แล้วฟังธรรม เราจะได้ประโยชน์มาก ถ้าฟังไป แล้วก็ใจก็หนักๆ แน่นๆ เพ่งเอาไว้มากๆ บางคนเพ่ง เพ่งจนเครียด ฟังธรรมะไม่รู้เรื่อง จิตใจเหมือนกับครกหินทั้งลูก เอาน้ำสาดลงไป ไม่ซึมสักนิดเดียวเลย ใจกระด้าง กูก็แน่ กูก็หนึ่ง พวกนี้ก็รับธรรมะไม่ได้ พวกหัวดื้อหัวรั้น เจ้าความคิดเจ้าความเห็น ฉะนั้นเราสังเกตจิตใจเรา ให้จิตใจเราเป็นกุศลที่แท้จริง จิตใจที่เป็นกุศล เป็นจิตใจที่ฉลาด มันพร้อมที่จะรับธรรมะ สังเกตดูจิตเราขณะนี้หนักไหม แน่นไหม แข็งไหม ซึมทื่อหรือเปล่า หรือว่าคิดอุตลุด คิดกับรู้ตรงข้ามกัน คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงจะรู้ รู้อะไร รู้สภาวะ ถ้าคิดจะรู้อะไร รู้เรื่องที่คิด เรื่องที่คิดไม่ใช่สภาวธรรม สภาวธรรมคือรูปธรรมนามธรรม เรื่องราวที่คิดเรียกบัญญัติ มันเป็นคนละชนิดกัน ฉะนั้นถ้าเรายังหลงอยู่ในโลกของความคิด เราก็ไม่เห็นรูปธรรมนามธรรม ค่อยๆ สังเกตใจเรา เจ้าความคิดเจ้าความเห็นอะไรพวกนี้ โยนทิ้งไป เป็นอุปสรรคต่อการเรียนธรรมะ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 10 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670210.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เราต้องปฏิบัติตลอดชีวิต ไม่มีคำว่ายอมแพ้ บางครั้งเบื่อ เบื่อรู้ว่าเบื่อแล้วก็ภาวนาต่อ ปฏิบัติต่อ บางครั้งขี้เกียจ รู้ว่าขี้เกียจแล้วก็ปฏิบัติต่อ ใจมันจะเบื่อ ห้ามมันไม่ได้ ใจมันจะขี้เกียจ ห้ามมันไม่ได้ ความเบื่อความขี้เกียจอะไรนี่นิวรณ์ทั้งนั้นล่ะ เพราะฉะนั้นตัวนิวรณ์อย่ามองข้ามมัน ที่เราไม่เจริญก็เพราะตัวนิวรณ์นั่นล่ะ ในทางโลกนิวรณ์มาก งานการทางโลกก็เสีย ในทางธรรมนิวรณ์มาขวางกั้น ธรรมะก็ไม่เจริญ ฉะนั้นสังเกตจิตใจตัวเอง อย่าปล่อยให้นิวรณ์ครอบงำจิต หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 4 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670204.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ตรงที่เราสามารถเห็นทุกข์ของกาย กายนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เราเห็นทุกข์ของจิต ว่าจิตมีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย อันนี้เรียกว่าเห็นตามความเป็นจริง จิตจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้นของจิตเอง เส้นทางเดินนี้ไม่มีอะไรมาก รู้ทุกข์ไว้ คำว่าทุกข์ก็คือ รูปนามขันธ์ 5 ที่เรามีอยู่นี่ล่ะ คอยรู้สึกไปเรื่อยๆ รู้สึกไปจนปัญญามันแก่รอบ กายนี้มีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตมีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เห็นอย่างนี้เรียกว่าเรารู้ทุกข์แล้ว ทันทีที่รู้ทุกข์ สมุทัยคือความอยากก็จะหมดไปทันที ถูกทำลายในขณะที่เรารู้ทุกข์นั่นล่ะ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 3 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670203.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องลึกลับ มันเป็นการเปลี่ยนจุดที่มอง แทนที่จะมองออกไปข้างนอก ก็มองย้อนกลับเข้ามาที่ตัวเอง เรียนรู้อยู่ที่จิตใจตัวเองให้ได้ แล้วมันจะไปได้อย่างรวดเร็ว พอเราเรียนรู้ลงที่จิตใจบ่อยๆ เราจะเริ่มเห็นความจริง จิตใจนี้มันเป็นไตรลักษณ์ จิตใจมันเป็นไตรลักษณ์ เวลามันมีความสุข มันมีความทุกข์ หรือมันเป็นกุศล หรือมันโลภ โกรธ หลงก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ชั่วคราว ความสุข จิตใจมีความสุข ก็สุขชั่วคราว จิตใจมีความทุกข์ ก็ทุกข์ชั่วคราว จิตใจเป็นกุศล ก็เป็นกุศลชั่วคราว จิตใจโลภ โกรธ หลง ก็โลภ โกรธ หลงชั่วคราว เราเห็น อย่างนี้เรียกว่าเห็นอนิจจัง หรือบางทีเราทำสมาธิ จิตเราสงบสบาย นิ่งๆ ว่างๆ แล้วเราก็พบว่า สมาธิของเรากำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลายไป เสื่อมสลาย จากจิตที่ทรงสมาธิ สมาธิก็เริ่มหมดไปๆ ในที่สุดจิตก็หลุดออกมาอยู่ข้างนอก ฉะนั้นจิตที่ทรงสมาธิก็ทรงอยู่ไม่ได้ตลอดกาล อยู่ได้ชั่วคราวก็ถูกผลักดันให้หลุดออกมาจากสมาธิ นี่มันทนอยู่ไม่ได้ หรือเราเห็นว่าจิตมันเป็นอนัตตา จิตเราสั่งให้สุขก็ไม่ได้ เราห้ามทุกข์ก็ไม่ได้ สั่งให้ดีก็ไม่ได้ ห้ามชั่วก็ไม่ได้ ตรงที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับเรียกว่าเราเห็นอนัตตา เพราะฉะนั้นการที่เราย้อนกลับเข้ามาที่จิต แทนที่จะหลงไปที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ทั้งหลาย ย้อนกลับมาที่จิตใจตัวเอง เราก็จะเห็นจิตใจนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ธรรมะมันอยู่ตรงนี้เอง มันไม่ได้อยู่ที่อื่นหรอก ย้อนกลับเข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเอง หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 28 มกราคม 2567

Direct download: 670128.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

วิธีที่เราจะเข้าถึงความสงบอย่างแท้จริง ก็คือการเห็นความจริงของกายของใจ ไม่ใช่เข้าถึงความสงบด้วยการเข้าฌาน เข้าฌานเก่งแค่ไหนก็ตาม ถึงจุดหนึ่งจิตก็ต้องออกจากสมาธิมา มากระทบอารมณ์ข้างนอกอีก ตอนเจ้าชายสิทธัตถะออกมาบวช ก็ไปเรียนเข้าสมาธิกับฤาษี แล้วท่านพบว่า มันยังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ที่แท้จริง ตอนที่อยู่ในฌานก็มีความสุขดี พอออกมาแล้วกิเลสก็เหมือนเดิม การที่เราไปนั่งสมาธิเก่งๆ นั่งสมาธินานๆ นั่งปุ๊บสงบปั๊บเลย ยังไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาที่แท้จริง ท่านก็เลยมาดูว่าอะไรเป็นเหตุ ที่ทำให้จิตใจมันมีทุกข์ขึ้นมา เหตุที่แท้จริงก็คือเราไม่ยอมรับ จิตมันไม่ยอมรับความจริงของกายของใจ ว่ามันล้วนแต่ของไม่เที่ยง ล้วนแต่ของที่ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ ล้วนแต่เป็นของที่บังคับควบคุมไม่ได้ ถ้าเมื่อไรเราสามารถยอมรับความจริงของกายของใจ ว่ามันไม่เที่ยง มันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย มันอยู่นอกเหนืออำนาจบังคับบัญชา ยอมรับความจริงตัวนี้ได้ จิตจะหมดความอยากสิ้นเชิง เมื่อจิตหมดความอยากหรือหมดตัณหา จิตจะหมดความดิ้นรน เมื่อจิตหมดความดิ้นรน จิตก็เข้าถึงสันติสุข เข้าถึงสันติ ความสงบที่แท้จริง สันติตัวนี้ก็คือนิพพาน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 27 มกราคม 2567

Direct download: 670127.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ค่อยภาวนา อย่าทิ้งจิตตัวเอง เรียนรู้จิตตัวเอง เรียนรู้จิตของเราแต่เบื้องต้น เราจะมีศีลอัตโนมัติ เพราะว่ากิเลสใดๆ เกิดขึ้นที่จิตเรารู้ทัน กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ ศีลอัตโนมัติจะเกิด เรียนรู้จิตตัวเอง รู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมา จิตก็หยุดการไหล ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เราก็ได้สมาธิที่ถูกต้อง เห็นไหมเรื่องของจิตทั้งนั้นเลย แล้วในขั้นเจริญปัญญา จะเริ่มจากกาย เวทนา อะไรก็ตาม สุดท้ายมันก็ลงมาที่จิตจนได้ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 21 มกราคม 2567

Direct download: 670121.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

หัดดูตัวเองตั้งแต่เริ่มเลย รู้สึกตัวขึ้นมา รู้สึกกายรู้สึกใจ หัดดูไปเรื่อย กิเลสอะไรทำงานขึ้นมา รู้ทัน กิเลสอะไรซ่อนเร้นอยู่ รู้ทัน หัดรู้ไปเรื่อย ทีแรกก็รู้กิเลสหยาบๆ ต้องโกรธแรงๆ ถึงจะรู้ ต้องโลภแรงๆ ถึงจะรู้ หัดรู้บ่อยๆ ต่อไปขัดใจเล็กๆ ก็เห็น ความอยากเล็กๆ เกิดขึ้นก็เห็น หัดรู้กิเลสของตัวเองไว้ให้ดีตั้งแต่เริ่มต้นเลย ถ้ารู้ทันกิเลสตัวเอง เวลาที่คิดว่าบรรลุมรรคผลอะไร ก็คอยสังเกตกิเลสตัวเองไป กิเลสอะไรยังไม่ละ กิเลสอะไรละแล้ว ละชั่วคราวหรือละถาวร สังเกตเอา ไม่ต้องเที่ยวถามคนโน้นคนนี้ เชื่อถือไม่ได้หรอก มีจำนวนมากเลยที่ไปเรียนที่โน้นที่นี้ที่โน่น ไปเรียนมาจากที่ต่างๆ แต่ละที่เขารับรอง ได้โสดาบัน ได้สกทาคามี ได้อนาคามี เขารับรองให้ ไปเรียนอยู่ที่อื่น เขารับรองแล้วมาถามหลวงพ่ออีก จะให้หลวงพ่อรับรอง เรารับรองให้ไม่ได้ ไม่ใช่หน้าที่ แต่หลวงพ่อจะสอนให้ ไปสังเกตกิเลสตัวเองเอา กิเลสอะไรละแล้ว กิเลสอะไรยังไม่ละ ที่ละนั้นละเด็ดขาดหรือว่าละชั่วครั้งชั่วคราว กิเลสไม่ใช่ของเกิดตลอดเวลา มันเกิดเป็นคราวๆ กระทั่งสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่ามีตัวมีตน ก็เกิดเป็นคราวๆ ฉะนั้นไม่ใช่นึกๆ เอาว่า เอ๊ะ ตอนนี้ไม่มี ตอนนี้ไม่มีประเดี๋ยวมันมีก็ได้ ฉะนั้นหัดสังเกตกิเลสตัวเองไว้ให้ดีเถอะ หลวงพ่อไม่ได้พยากรณ์ให้ใครหรอก แต่จะชี้ให้ดู ชวนให้ดูกิเลสของตัวเอง หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 20 มกราคม 2567

Direct download: 670120.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เราจะปฏิบัติธรรมเราต้องรู้หลักให้ดี งานที่เราจะทำ งานหลักคือการทำวิปัสสนากรรมฐาน อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานคือรูปธรรมนามธรรม อย่างร่างกายเราเป็นรูปธรรม ความรู้สึกนึกคิด ความรับรู้ทั้งหลายเป็นนามธรรม เจริญปัญญานี้ก็ต้องรู้รูปธรรมรู้นามธรรม ทีแรกรู้ถึงความมีอยู่ของรูปธรรม ถัดจากนั้นรู้ถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปธรรม หรือเบื้องต้นรู้ความมีอยู่ของนามธรรม ถัดจากนั้นก็รู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของนามธรรม ทีแรกรู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจ แล้วต่อไปก็เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ร่างกายนี้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป ถูกความทุกข์บีบคั้น เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อยๆ จิตใจมีแต่ความไม่เที่ยง แปรปรวนตลอดเวลา แล้วก็บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เห็นความจริงของร่างกาย เห็นความจริงของจิตใจไป อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าการเจริญปัญญา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 14 มกราคม 2567

Direct download: 670114.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

รู้ทุกข์ไว้ อะไรคือทุกข์ กาย จิตคือทุกข์ รู้อย่างไร รู้อย่างที่มันเป็น รู้กายอย่างที่กายเป็น คือเป็นอะไร เป็นไตรลักษณ์ รู้จิตอย่างไร รู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตเป็นอย่างไร จิตเป็นไตรลักษณ์ จะ รู้กายรู้จิตว่าเป็นไตรลักษณ์ได้ ไม่หลง ไม่ลืมกายลืมใจ ไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิดความฝัน แล้วก็ไม่บังคับแทรกแซงกาย แทรกแซงจิต เรียกว่ารู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็น ไม่ลืมกาย ไม่ลืมจิต แล้วก็ไม่ไปแทรกแซงให้มันผิดจากความเป็นจริง หัดรู้ไปเรื่อยๆ หัดรู้อย่างไร หัดหมายรู้ ถ้าหมายรู้ถูก ต่อไปความคิดมันก็จะถูก เมื่อความคิดถูก ความเห็นมันก็จะถูก ความเห็นถูกเขาเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินั่นล่ะ เกิดขึ้นเมื่อไร อวิชชาตายไปแล้วเมื่อนั้น พออวิชชาตายไปแล้ว อาสวะก็ย้อมจิตไม่ได้ ชาติภพอะไร มันก็ไม่สามารถก่อตัวขึ้นที่จิตได้แล้ว ภพชาติไม่ได้ก่อตัวที่อื่นเลย มันก่อตัวที่จิตนี้ล่ะ เมื่อจิตยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง ภพชาติก็ก่อตัวขึ้นได้ ด้วยกำลังของอาสวะ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 13 มกราคม 2567

Direct download: 670113.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

พระพุทธเจ้าท่านบอก “จิตที่ไม่ประกอบด้วยกิเลส สุคติก็เป็นอันหวังได้” อย่างการทำทาน การช่วยเหลือคนอื่นอะไรอย่างนี้ เขาทำโดยที่ไม่หวังผลตอบแทน เป็นบุญที่สูง อย่างถ้าเราจะทำบุญสักอย่าง เราก็ยกมือจบเหนือหัว เจ้าประคุณที่บริจาคทรัพย์ครั้งนี้ ขอให้เกิดมาเมื่อไรก็รวยเมื่อนั้น ชาตินี้ก็ขอให้รวยๆๆๆ นี่เจือด้วยกิเลส ทำบุญแบบนี้ได้บุญเล็กน้อยเท่านั้นล่ะ ไม่ได้บุญเยอะหรอก เพราะว่าทำบุญไปด้วยทำบาปไปด้วย เราจะทำบุญ ทำให้มันบริสุทธิ์จริงๆ ทำไปแล้วต้องลดละความเห็นแก่ตัวให้ได้ จับหลักตัวนี้ไว้ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้หัดทำบุญให้เป็น ทำบุญให้เป็นไม่ต้องจ่ายเงินก็ได้ อย่างเราเห็นใครเขาดี เราก็ดีใจกับเขาด้วย คนนี้เขาทำความดีเราดีใจกับเขา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดปริวาสราชสงคราม 8 มกราคม 2567

Direct download: 670108.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ถ้าเราภาวนาไปถึงจุดหนึ่ง เราจะเห็นความทุกข์ไม่ใช่สิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย ทุกข์ที่แท้จริงหรือทุกขสัจ ทุกข์ที่แปลกปลอมเข้ามาในร่างกายเรา ชั่วครั้งชั่วคราว เดี๋ยวมาแล้วก็ไป เรียกว่าทุกขเวทนา ความทุกข์ที่แทรกเข้ามาในจิตใจก็เป็นทุกขเวทนาทางใจ มีศัพท์เฉพาะของพวกอภิธรรม เขาเรียกว่าโทมนัสเวทนา ความทุกข์อย่างนี้เห็นไม่ยาก แต่เดิมหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อก็คิดว่า ความทุกข์เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าเราไม่ไปยึดไปถือ เราก็ไม่ทุกข์ด้วย มันทุกข์เพราะเราไปยึดขันธ์ 5 ถ้าเราไม่ยึดขันธ์ 5 เราก็ไม่ทุกข์ พอภาวนาละเอียดขึ้นไปพบว่าไม่ใช่ ที่คิดว่าใช่มันไม่ใช่เสียแล้ว เดิมคิดว่าขันธ์ 5 มันเป็นตัวกลางๆ แต่พอจิตเราเข้าไปหยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา จิตเลยทุกข์ พอภาวนาไปเรื่อยๆ ก็เห็นความจริง รูปนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ทุกข์โดยตัวของมันเอง เราจะเข้าไปยึดถือหรือไม่ยึดถือ รูปก็คือตัวทุกข์ นามธรรมก็คือจิตเรานี้ เราจะยึดถือหรือไม่ยึดถือ จิตนั้นก็คือตัวทุกข์ พอรู้แจ้งเห็นจริงว่ารูปคือตัวทุกข์ จิตถึงจะปล่อยวางรูป เรียกรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็ละสมุทัยได้ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 7 มกราคม 2567

Direct download: 670107.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ทำไมบางคนเขาภาวนาได้ผลเร็ว บางคนได้ผลช้า ต้นทุนเขาดี เขาก็มีโอกาสได้ผลเร็ว หลวงพ่อใช้คำว่ามีโอกาส เพราะไม่ใช่ต้นทุนดีอย่างเดียว แล้วจะต้องดีเสมอไป ตัวชี้ขาดของเราที่ต้องพัฒนาให้ดีเลยคือกรรมใหม่ กรรมเก่ามันแก้อะไรไม่ได้แล้ว มันทำไปแล้ว จบไปแล้ว ถ้ามีกรรมเก่าที่ดีก็รับผลดีไป กรรมเก่าไม่ดีก็รับผลไม่ดีไป ถึงเราได้รับผลที่ไม่ดี บางคนรูปร่างดูไม่ได้เลย แต่ทำไมคนรักใคร่ คนชอบที่จะอยู่ใกล้ๆ ครูบาอาจารย์บางองค์รูปร่างท่านไม่งาม กิริยาท่าทางก็ไม่งาม แต่ทำไมคนอยากอยู่ใกล้ๆ เทวดาก็อยากอยู่ใกล้ๆ เพราะจิตใจท่านงาม ที่จิตใจท่านงามได้ เพราะกรรมใหม่ท่านดี ตั้งอกตั้งใจทำทาน รักษาศีล ภาวนา ทำทุกวันๆ เพราะฉะนั้นระหว่างกรรมใหม่กับกรรมเก่า กรรมใหม่สำคัญที่สุด มันอยู่ในปัจจุบัน กรรมเก่าทำไปแล้ว มันแก้ไม่ได้ แก้ไม่ได้ก็ปล่อยมันไป เพียงแต่ว่าเราอย่าไปทำกรรมชั่วซ้ำขึ้นในปัจจุบันนี้เท่านั้นล่ะ แล้วพยายามรักษาศีลของเราไว้ให้ดี เจริญสมาธิ ฝึกของเราทุกวัน บางคนไม่เคยฝึกมาก่อน สงบยาก สงบยากก็ช่างมัน ก็ฝึกทุกวัน ทุกวันต้องไหว้พระสวดมนต์ ทุกวันต้องทำในรูปแบบ นั่งสมาธิ เดินจงกรมอะไรต้องทำ ถ้าอยากพ้นทุกข์จริงๆ ต้องทำ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 6 มกราคม 2567

Direct download: 670106.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

คำว่า “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นศัพท์เฉพาะ เป็นการเรียนแบบทำงานวิจัย สุ่มตัวอย่างมา สุ่มตัวอย่างของรูปธรรม สุ่มตัวอย่างของนามธรรมบางอย่างมาเรียนรู้ เหมือนกับงานวิจัยปัจจุบันนี้ล่ะ สุ่มตัวอย่างมาศึกษา ตัวอย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านเลือกไว้ให้แล้ว อยู่ในสติปัฏฐาน ไปดูเอา นี้คือการเรียนแบบทำวิจัย เรียกว่า “ธัมมวิจยะ” ฉะนั้นธรรมะสำหรับคนคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเรียนเยอะๆ อะไร สภาวะอันใดที่เรารู้ได้ชัด รู้ได้บ่อย เอาอันนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐานของเรา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 1 มกราคม 2567

Direct download: 670101.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เวลาเราจะภาวนา เราก็นั่งปรุงแต่งไป ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด เวลาภาวนาจะอยากปฏิบัติ ก็จะไปสร้างภพของนักปฏิบัติขึ้นมา ภพก็คือความปรุงแต่ง ไปแต่งจิตให้มันนิ่งๆ ทื่อๆ หรือบังคับกาย บังคับใจ นั่นคือความปรุงแต่งทั้งหมดเลย ถ้าตราบใดที่เรายังหลงอยู่ในโลกของความปรุงแต่ง เราจะไม่เห็นความว่างของธาตุทั้ง 6 จะไม่เห็นความว่างของร่างกาย ซึ่งประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ตั้งอยู่ในช่องว่าง คืออากาศธาตุ เราจะไม่เห็นว่าจิตใจมันก็เป็นธาตุ เป็นธาตุรู้ เพราะความปรุงแต่งนั้นเป็นเครื่องพะรุงพะรัง ออกมาปิดบังความว่างเอาไว้ อย่างอากาศ จักรวาลนี้มันว่าง เมฆมันลอยมา เราก็รู้สึกฟ้ามันมืด วันนี้ฟ้ามันทึบ ฟ้าไม่ได้มืด ฟ้าไม่ได้ทึบ ฟ้าก็เป็นอย่างนั้นล่ะ แต่เมฆมันมาบัง จิตนี้ก็เหมือนกัน โดยตัวมันมันว่างอยู่แล้ว แต่เมฆหมอก คือความคิดนึกปรุงแต่ง เข้ามาบดบังญาณทัสสนะของเรา เลยเห็นผิดไป ความปรุงแต่งก็เลยปิดบังความว่างเอาไว หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 31 ธันวาคม 2566

Direct download: 661231.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ถ้าเราพยายามอดทนฝึกให้จิตเรามีสมาธิ ทำกรรมฐานไป รู้จักเลือกอารมณ์ที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุข อารมณ์นั้นไม่ยั่วให้เกิดกิเลส ทีแรกมันก็ฟุ้งซ่าน แล้วทำทุกวันๆ ต่อไปมันก็สงบลงมา เวลามันสงบมันก็ข่มนิวรณ์ได้ เวลาจิตไม่มีกำลังไม่สงบ ก็ถูกนิวรณ์เข้ามาข่มจิต ก็ยิ่งฟุ้งซ่านมากกว่าเก่าอีก เพราะฉะนั้นต้องอดทน ในช่วงแรกๆ ของการปฏิบัติ ตั้งใจรักษาศีลไว้แล้วก็อดทน เราจะต้องต่อสู้กับนิวรณ์ 5 ตัว นิวรณ์โดยตัวศัพท์ของมัน ก็หมายถึงสิ่งซึ่งคอยมาขัดขวาง การทำคุณงามความดีทั้งหลาย นั่นละเรียกว่านิวรณ์ เวลามีสิ่งมาขัดขวางคุณงามความดีในใจเรา ก็เรียกว่ามีนิวรณ์เกิดขึ้นแล้ว ทีแรกเราก็ยังมีนิวรณ์ทุกคน ก็ต้องอดทนภาวนาทำไปเรื่อยๆ มันคงไม่ชั่วตลอดชาติหรอก หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 30 ธันวาคม 2566

Direct download: 661230.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ตัววิปัสสนากรรมฐาน ไม่ใช่มีสติรู้กายรู้ใจอยู่เฉยๆ ต้องมีปัญญา มีสัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจ แล้วปัญญาคือความรู้ถูกความเข้าใจถูกจะเกิดขึ้น ว่าร่างกายจิตใจของเราไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้น ฉะนั้นเวลาเรามาวัด เราก็ดู เราเป็นบุคคลประเภทที่หนึ่ง มาแล้วมีความสุขเพลิดเพลิน หรือเป็นบุคคลประเภทที่สอง มาแล้วก็คอยรู้สึกอยู่ที่ร่างกาย คอยรู้สึกอยู่ที่จิตใจให้มันนิ่งๆ อยู่ หรือเป็นประเภทที่สาม มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในร่างกาย มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในจิตใจก็รู้ แล้วเราก็จะเห็นไตรลักษณ์ เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของร่างกายของจิตใจ มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้ได้ปัญญา ปัญญาชั้นสูงเลยเรียกว่าวิปัสสนาปัญญา เพราะฉะนั้นอย่างต่ำ อย่าใจลอย รู้สึกกายรู้สึกใจ ร่างกายนั่งอยู่รู้สึก คอยรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ เราก็จะเป็นคนแบบที่สอง อย่างน้อยจิตใจเราก็สงบสุขได้ ถ้าสูงกว่านั้นก็คือเห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ของร่างกายของจิตใจไป เราจะได้ปัญญา เราจะพ้นทุกข์ได้ก็เพราะปัญญา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 27 ธันวาคม 2566

Direct download: 661227.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

กรรมฐานที่ไม่มีโทษไม่มีภัยแล้วก็ไม่ยากเกินไป เรื่องของสมถกรรมฐาน คือเรื่องของอนุสติ อนุสติ 10 ข้อ จะทำพุทธานุสติ ก็ต้องคิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า ธัมมานุสติ ก็คิดถึงคุณของพระธรรม สังฆานุสติก็คิดถึงคุณของพระสงฆ์ เทวตานุสติ ก็คิดถึงธรรมะที่ทำให้คนเป็นเทวดา จาคานุสติ อย่างเราได้บริจาคทาน ถ้าทำทานก็ทำด้วยใจที่บริสุทธิ์ ทำด้วยเสียสละ ทำเพราะเห็นว่าสมควรจะทำ สีลานุสติ นึกถึงศีลที่เราตั้งใจรักษามาดีแล้ว มรณานุสติ คิดถึงความตายบ้าง คิดถึงความตายบ่อยๆ วันละหลายๆ รอบยิ่งดี กายคตาสติ พิจารณาลงในร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไล่ลงไปทีละส่วนๆ อีกตัวหนึ่งคืออานาปานสติ มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้าเรื่อยๆ ไป หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 24 ธันวาคม 2566

Direct download: 661224.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ตอนนี้คนจีนมาที่นี่เยอะมาก เขามาไกลจากเมืองจีน ถามว่ามาทำอะไร มาแสวงหาธรรมะ แล้วจะเจอไหม ไม่เจอหรอก ธรรมะไม่ได้อยู่เมืองไทย ธรรมะไม่ได้อยู่ที่วัดสวนสันติธรรม ธรรมะไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อ ถ้ามาแสวงหาธรรมะที่หลวงพ่อ ก็ยังแสวงหาออกนอกอยู่ อยากเข้าใจธรรมะจริงๆ ให้ค้นคว้าเข้าไปในกายในใจของตัวเอง อย่าให้เกินร่างกายออกไป เรียนรู้ลงไปเรื่อยๆ เรียนกรรมฐานไม่ใช่เรียนที่อื่น ไม่ใช่มารอรับธรรมะจากหลวงพ่อ ไม่ใช่รอมาวัด ธรรมะไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อ ธรรมะไม่ได้อยู่กระทั่งกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ท่านจะตรัสรู้หรือไม่ตรัสรู้ ธรรมะก็มีอยู่แล้ว ฉะนั้นธรรมะเป็นของประจำโลกอยู่แล้ว ไม่ได้อยู่ที่ใคร อยู่ที่เราจะต้องฝึกจิตใจตัวเองให้เห็นธรรมะ ไม่ใช่ทำให้ธรรมะเกิดขึ้นหรอก ฝึกจนกระทั่งเห็นความจริง สูงสุดนั้นก็คือตัวอริยสัจ 4 ตราบใดที่ไม่รู้อริยสัจ 4 เรายังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิดหรอก หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 23 ธันวาคม 2566

Direct download: 661223.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

อันแรกเลยศีล 5 ต้องรักษา ทุกวันต้องทำในรูปแบบ เลือกอารมณ์กรรมฐานมาสักอย่างหนึ่ง ที่เราถนัด ที่เราอยู่ด้วยแล้วเรามีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้นไปด้วยความมีสติ ไม่เพลิดเพลินในอารมณ์อันนั้น ไม่ไปเพ่งจ้องในอารมณ์อันนั้น ไม่หลงลืมอารมณ์นั้น อยู่กับมันด้วยความเป็นกลางสบายๆ จิตก็จะสงบ จิตได้พักผ่อน จิตจะมีแรงขึ้นมา แล้วการที่เราทำกรรมฐานแล้วเราคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองด้วย นอกจากจะสงบ เรายังจะได้สมาธิอีกชนิดหนึ่งแถมมาด้วย คือจิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติ พอตั้งมั่นแล้วก็มีแรงแล้วก็ต้องเดินปัญญา พวกเราเดินปัญญาในฌานได้ไม่กี่คนหรอก เราก็เดินปัญญาอยู่ข้างนอกนี้ล่ะ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง แล้วจิตเราเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ก็ให้รู้ เกิดกุศลก็ให้รู้ เกิดโลภก็ให้รู้ เกิดโกรธก็ให้รู้ เกิดหลงก็ให้รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ หดหู่ก็รู้ ตามรู้ตามเห็นไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปปัญญามันก็พอกพูนขึ้น ถึงจุดหนึ่งก็จะเข้าสู่สังขารุเปกขาญาณ มันรู้จริงแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ มันก็เลยเป็นกลาง ไม่หลงยินดีกับสุข ไม่หลงยินร้ายกับทุกข์ ไม่หลงยินดีกับกุศล ไม่หลงยินร้ายกับอกุศล ถ้าเดินปัญญาถึงจุดนี้ เราเข้ามาสู่ประตูของอริยมรรคอริยผลแล้ว ถ้าบุญบารมีเราสะสมมาเพียงพอ อริยมรรคอริยผลจะเกิดขึ้น ไม่มีใครสั่งจิตให้เกิดอริยมรรคอริยผลได้ จิตเกิดอริยมรรคอริยผลของจิตเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญานั้นสมบูรณ์แก่รอบแล้ว หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 17 ธันวาคม 2566

Direct download: 661217.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

1 2 3 4 5 6 7 Next » 67