ที่เราปฏิบัติธรรมเราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อสิ่งอื่นหรอก จุดหมายปลายทางคือความพ้นทุกข์ เราจะพ้นทุกข์ได้ เราต้องเรียนรู้ทุกข์ เรียนรู้ให้เห็นความจริง ทุกข์อยู่ที่กายเรียนรู้กาย ทุกข์อยู่ที่จิตเรียนรู้ที่จิต เรียนรู้ไปจนเห็นความจริงของกาย เรียนรู้จนเห็นความจริงของจิต พอเห็นความจริงแล้วจิตจะเบื่อหน่าย คลายความยึดถือแล้วจิตหลุดพ้น จิตหลุดพ้นคือมันไม่ยึดถือกายมันไม่ยึดถือจิตใจ เมื่อไม่ยึดถือมันก็ไม่ทุกข์ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช มูลนิธิเพื่อการเผยแผ่ธรรมะภาคภาษาจีนฯ 7 มิถุนายน 2567

Direct download: 670607.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ค่อยภาวนา เริ่มจากกายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ แล้วสุดท้ายมันจะลงมาที่ปฏิจจสมุปบาท ลงมาที่อริยสัจทุกคน เพราะถ้ายังไม่ถึงรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ยังไม่จบกิจในพระพุทธศาสนา เรียกว่ายังไม่รู้ทุกข์ ยังไม่ได้รู้ทุกข์ ฉะนั้นเราดูกายก็ได้ แล้วต่อไปเราก็เข้ามาเห็นทุกข์ได้ ดูเวทนา ดูจิตแล้วก็เข้ามาเห็นทุกข์ได้ เห็นทุกข์ก็เห็นธรรมนั่นล่ะ พอเรารู้ความจริงแจ่มแจ้ง กาย เวทนา จิต ธรรมไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์ล้วนๆ มีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของถูกบีบคั้น มีแต่ของที่อยู่นอกเหนืออำนาจบังคับ พอเห็นอย่างนี้จิตมันจะวาง พอจิตมันปล่อยวางได้ รู้ทุกข์จนมันละสมุทัยแล้ว มันก็แจ้งนิโรธ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 2 มิถุนายน 2567

Direct download: 670602.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

การปฏิบัติเราต้องทำให้ครบ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าขาดอันใดอันหนึ่ง การภาวนาก็จะล้มเหลว ศีลก็ฝึกตัวเอง ไม่ตามใจกิเลส สมาธิก็ฝึกให้จิตใจสงบจากกิเลสชั่วครั้งชั่วคราว แล้วอาศัยช่วงเวลานั้นมาเจริญปัญญา ถ้าเราเอาใจที่ปนเปื้อนกิเลสไปเจริญปัญญา มันทำไม่ได้จริง ฉะนั้นศีล สมาธิ ปัญญา เป็นของสำคัญ ขาดไม่ได้ ศีลเป็นเครื่องข่มใจ ไม่ให้ไหลตามกิเลส สมาธิเป็นเครื่องข่มกิเลส ไม่ให้มีอำนาจเหนือใจ ปัญญาเป็นเครื่องล้างผลาญทำลาย ขุดรากถอนโคนกิเลส 3 สิ่งนี้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ขาดอันใดอันหนึ่งก็สู้ยาก สู้ไม่ไหว หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 1 มิถุนายน 2567

Direct download: 670601.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

การทำสมาธิกับการเจริญปัญญาทำได้ตั้งหลายรูปแบบ ใช้ปัญญานำสมาธิ คิดพิจารณาไปก่อน แล้วทำความสงบเป็นระยะๆ ไป แล้วถึงจุดที่กำลังมันพอ สติ สมาธิ ปัญญาพอ ก็จะเกิดอริยมรรคได้ หรือใช้สมาธินำปัญญา ทำความสงบลึกลงไปก่อน พอถอนออกมา ให้ดูกาย อย่าดูจิต ดูจิตมันจะว่างๆ เพราะจิตมันยังทรงกำลังของสมาธิอยู่ พอพิจารณาลงไปในร่างกาย ไม่ต้องพิจารณามากอันนี้ ไม่ต้องคิดเยอะเลย พอจิตทรงสมาธิแล้วพอถอยออกมาปุ๊บ มันเห็นเลยร่างกายไม่ใช่เราหรอก เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ มีเวทนาเกิดขึ้นในร่างกายก็รู้ เห็นเวทนาในร่างกายดับไปก็รู้ จิตตั้งมั่น เป็นคนรู้ อันนี้เราใช้สมาธินำปัญญา อีกแบบหนึ่ง แบบที่สาม ใช้ปัญญากับสมาธิควบกัน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 26 พฤษภาคม 2567

Direct download: 670526.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 4:00pm +07

สมาธิที่ดี มันมาจากกำลังของสติ สติเป็นตัวรู้ทัน รู้ทันรูปนาม กายใจของเรานี้ หรือสติปัฏฐานก็อยู่ในรูปนามทั้งหมดนั่นล่ะ อย่างร่างกายเราเคลื่อนไหว เรารู้ จิตเราก็จะตั้งมั่นขึ้นมา ร่างกายเคลื่อนไหว มีสติรู้ทัน มีสัมมาสติแล้ว สัมมาสติคือสติรู้กายรู้ใจ ร่างกายเคลื่อนไหว เรารู้ทันปุ๊บ สัมมาสมาธิก็เกิดขึ้น จิตก็จะตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา เพราะฉะนั้นตรงที่จิตตั้งมั่น ทำขึ้นมาไม่ได้ จะเป็นของปลอม แต่เกิดขึ้นได้อัตโนมัติ เพราะกำลังของสติที่รู้กายรู้ใจ อาศัยสติแล้วจิตเราจะตั้งมั่น คือเกิดสัมมาสมาธิขึ้นมา พอเกิดสัมมาสมาธิ เราก็พร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว มองโลก โลกนี้เริ่มจากกายจากใจของเรา กายกับใจของเราก็คือโลก รูปนามทั้งหลายคือโลก สัตว์ทั้งหลายคือโลก แล้วก็มองความเป็นไตรลักษณ์ของมัน ตรงที่จิตตั้งมั่นถึงจะทำให้เราเจริญปัญญาได้ จิตที่ตั้งมั่นคือจิตที่ทรงสัมมาสมาธินั่นเอง เราถึงจะเจริญปัญญาได้จริง หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 25 พฤษภาคม 2567

Direct download: 670525.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เวลาเราภาวนารู้ทุกข์เข้าไปเถอะ ถ้ารู้พอแล้วมันละสมุทัยเอง ทันทีที่สมุทัยคือตัณหาคือความอยากถูกละไป จิตจะเข้าถึงนิโรธ อันนี้สัจฉิกิริยา วิธีจะเข้าถึงสัจฉิกิริยาก็ไม่มีอะไร ก็รู้ทุกข์นั่นล่ะ พอรู้ทุกข์ จนละสมุทัย แล้วก็แจ้งนิโรธ ไปสัมผัสพระนิพพาน หน้าที่ของเราก็คือรู้ทุกข์จนกระทั่งละสมุทัยได้ ละสมุทัยได้เราก็แจ้งพระนิพพานได้ เรียกว่ามีสัจฉิกิริยาสำเร็จแล้ว ตรงที่เรารู้ทุกข์นั่นล่ะ จะรู้ได้ดีก็ต้องเจริญมรรค เจริญมรรคตรงรู้ทุกข์มีสัมมาญาณะนั่นล่ะ ก็มีองค์มรรคทั้ง 8 ทำให้เรารู้ทุกข์ได้แจ่มแจ้ง หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 22 พฤษภาคม 2567 (ช่วงบ่าย)

Direct download: 670522B.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ถ้าเราเดินตามเส้นทางนี้ นี่คือทางที่พระพุทธเจ้าสอนเรา แต่เราอย่าเดินเพื่อหาอะไรเข้าตัว เดินไปด้วยความเคารพ ศรัทธาแน่นแฟ้นในพระพุทธเจ้า เรารักษาศีลเป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า ทำสมาธิให้จิตสงบ ไม่วุ่นวายอยู่กับกามคุณอารมณ์ในโลกก็เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ฝึกจิตให้ตั้งมั่นก็เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า แยกรูปแยกนาม แยกธาตุแยกขันธ์ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ถ้าเจริญปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย กระทั่งตัวจิตผู้รู้ ถือว่าเราปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า การปฏิบัติบูชานั้น มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ ยิ่งกว่าอามิสบูชา การบูชามี 2 อย่าง อามิสบูชา อย่างเราหาดอกไม้ธูปเทียน มาไหว้พระ ถามว่าดีไหม ดี ใส่บาตรให้พระฉันเป็นอามิสบูชา หรือปฏิบัติบูชา ก็แล้วแต่ปัญญาของเรา ถ้าปัญญาเราไม่มาก มันก็เป็นแค่อามิสบูชา เอาของมาถวายพระ ถ้าเรามีปัญญามาก เราก็เห็นว่าที่เราทำนี้ เพื่อลดละกิเลสตัวเอง นี่เราปฏิบัติบูชา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 22 พฤภษาคม 2567

Direct download: 670522A.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

หลักสูตรในการฝึกสติก็คือสติปัฏฐานนั่นเอง ฉะนั้นสติปัฏฐานเลยเป็นเรื่องใหญ่ ตราบใดที่ยังมีผู้เจริญสติปัฏฐานอยู่ แล้วต้องทำให้ถูกด้วย ตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติสติปัฏฐานอยู่ การที่จะบรรลุมรรคผล ไม่เหลือวิสัย มีความเป็นไปได้ แต่ถ้าเราทิ้งเรื่องของสติปัฏฐาน ให้เรานั่งสมาธิตั้งแต่หัวค่ำยันสว่าง หรือเดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำ มันก็ไม่ได้มรรคผลอะไรหรอก เพราะฉะนั้นเราชาวพุทธต้องรู้จักหัดเจริญสติปัฏฐานให้ได้ การเจริญสติปัฏฐานมันมี 2 อย่างซ้อนกันอยู่ เบื้องต้น เราฝึกเพื่อให้เกิดสติ เบื้องปลายเราฝึกเพื่อให้เกิดปัญญา สองอย่างนี้ได้มาด้วยการเจริญสติปัฏฐาน สติ ทำอย่างไรมันจะเกิด สติเป็นเรื่องใหญ่ ไม่มีสติก็ไม่มีศีล ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีสติก็ไม่มีปัญญา สติเป็นองค์ธรรมฝ่ายกุศล จิตที่เป็นกุศลทุกดวงต้องมีสติ อกุศลไม่มีสติหรอก ฉะนั้นสติไม่ใช่เรื่องเล็กๆ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช บ้านจิตสบาย 19 พฤภษาคม 2567

Direct download: 670519.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 11:00am +07

ฝึกตัวเอง อย่าเกี่ยง อย่าอ้างโน่นอ้างนี่ มีธรรมะอยู่หมวดหนึ่ง ที่ว่ากฎแห่งกรรมมันจะทำงานได้ดีไม่ดี เรื่องของสมบัติ 4 ข้อ และก็วิบัติ 4 ข้อ อย่างคติวิบัติ พวกเราทั้งหมด เกิดในภูมิมนุษย์ ก็ถือว่าเป็นสุคติ ขณะนี้เราก็มีคติสมบัติ อันแรกเราได้เกิดเป็นมนุษย์ อันที่ 2 เรายังอยู่ในสภาพแวดล้อม ที่เราสามารถภาวนาได้ เรามีอุปธิสมบัติ คือสภาพร่างกายเราแข็งแรง ยังมีสุขภาพที่พอไปได้ อีกอันหนึ่งเขาเรียกกาลสมบัติ หรือกาลวิบัติ คือเวลา ช่วงเวลา อย่างบางช่วงบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ภาวนาดี ภาวนาง่าย ก็มีกาลสมบัติ เกิดในยุคที่บ้านเมืองวุ่นวาย เป็นกาลวิบัติ สมบัติอีกอันหนึ่งเรียกว่าปโยคสมบัติหรือปโยควิบัติ มีความเพียรพยายาม มุ่งมั่นจะทำในสิ่งที่ดีแค่ไหน ตัวนี้เป็นตัวที่พวกเราขาดเยอะ อย่างคติสมบัติของเรามี เราเป็นมนุษย์ อุปธิสมบัติของเรามี ร่างกายเรายังแข็งแรง เวลาของเรายังมี ยังไม่ตาย ยังมีเวลาเหลืออยู่ มันอยู่ที่ปโยคสมบัติของเรามีไหม มีความเพียรไหม มีความพากเพียรที่จะภาวนาไหม ถ้าเรามีความเพียรที่จะภาวนา ตัวอื่นๆ สำคัญน้อย อยู่ตรงไหนก็ภาวนาได้ ไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่ เรื่องวิบัติมันไม่ได้เป็นเรื่องตายตัว ในสถานการณ์อันหนึ่ง สำหรับคนหนึ่งเป็นสมบัติ สำหรับอีกคนหนึ่งเป็นวิบัติได้ อย่างเวลาร่างกายเจ็บป่วย คนภาวนาไม่เก่ง ไม่ได้ภาวนามาพอสมควร จิตใจระส่ำระสาย ฟุ้งซ่าน ถ้าตายไปก็ไปทุคติ เพราะจิตเศร้าหมอง แต่ถ้าเราภาวนาให้ดี จิตใจเราดี ถ้าร่างกายจะแตกจะดับ จิตที่ดีไปสู่สุคติได้ เพราะฉะนั้นเราจะไม่อ้างว่า ตอนนี้เป็นช่วงคติวิบัติ บ้านเมืองวุ่นวาย หรือเป็นช่วงกาลวิบัติ คนชั่วร้ายมีอำนาจเยอะแยะ พวกสัทธรรมปฏิรูปมีกำลังเข้มแข็ง หรือช่วงนี้ แหม ร่างกายเราไม่ค่อยแข็งแรง ไม่มีข้ออ้างสักเรื่องหนึ่ง ตัวสำคัญคือความเพียรของเรา ปโยคสมบัติ ทำให้มาก เจริญให้มาก ทำสติ ทำสติให้มาก เจริญให้มาก แล้วคราวนี้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ชนิดใด จะอยู่ในสภาพแวดล้อมชนิดใด ร่างกายเราจะเป็นอย่างไร เราสามารถภาวนาได้ เพราะฉะนั้นพยายามฝึกตัวเองให้ดี จะได้ไม่มีข้ออ้าง หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 18 พฤษภาคม 2567

Direct download: 670518.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ท่านสอนง่ายๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะรู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะรู้ว่าไม่มีราคะ เห็นไหม คำพูดนี้ตรงไปตรงมา ไม่ได้มีอะไรที่พิสดาร จิตเรามีราคะเราก็รู้ จิตไม่มีราคะเราก็รู้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะรู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะรู้ว่าไม่มีโทสะ ไม่เห็นจะมีอะไรยุ่งยากเลย ของง่ายๆ ธรรมะเป็นของง่ายๆ เรียบง่าย เปิดเผยตรงไปตรงมา กิเลสของเราทำให้เราคิดว่าธรรมะพิสดารผิดธรรมชาติธรรมดา การภาวนาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไรเลย ให้จิตใจอยู่ที่ตัวเอง รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ศัตรูมี 2 อัน ไม่หย่อนก็ตึง หย่อนไปนี่ภาษาพระเรียกว่า ”กามสุขัลลิกานุโยค” ตึงนี่เรียก “อัตตกิลมถานุโยค” ทำตัวเองให้ลำบาก ทางสายกลางคือรู้อย่างที่กายมันเป็น รู้อย่างที่ใจมันเป็นไป นี่เป็นหลักของการปฏิบัติ เหมือนพระพุทธเจ้าจุดไฟขึ้นท่ามกลางความมืด คนซึ่งไม่ได้ตาบอดก็เริ่มมองเห็น นี่เป็นเรื่องธรรมดา พอมีแสงสว่างมันก็มองเห็น ไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์ เพราะฉะนั้นธรรมะเป็นเรื่องธรรมดาที่สุดเลย แจ่มแจ้งนักพระเจ้าข้า เหมือนเปิดของที่คว่ำอยู่ให้หงาย เหมือนพระองค์จุดไฟในความมืด โดยหวังว่าคนซึ่งมีตาปกติจะมองเห็น ธรรมะมันง่ายๆ ตรงไปตรงมาอย่างนี้ เราก็ไปวาดภาพอะไรฟุ้งซ่านมากมายเยอะแยะไปหมด เสียเวลา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 15 พฤษภาคม 2567

Direct download: 670515.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

รถวินีตสูตร :: หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช 12 พ.ค. 2567 วิสุทธิ 7 เป็นธรรมะที่น่าฟังมาก ธรรมะบทนี้เกิดจากการสนทนาธรรมระหว่าง ท่านพระสารีบุตรกับพระปุณณมันตานีบุตร พระสารีบุตรท่านถามพระปุณณมันตานีบุตร ท่านปฏิบัติธรรมมาบวชเพื่อศีลวิสุทธิใช่ไหม เพื่อทิฏฐิวิสุทธิใช่ไหม เพื่อจิตตวิสุทธิใช่ไหม เพื่อกังขาวิตรณวิสุทธิใช่ไหม เพื่อมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิใช่ไหม มรรคกับอมรรค เขาเรียก มัคคา มัคคะ อันนี้เป็นทาง อันนี้ไม่ใช่ทาง ไม่ใช่ เพื่อปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิใช่ไหม เพื่อเดินในปฏิปทา ไปสู่ความบริสุทธิ์ ให้เกิดปัญญาที่บริสุทธิ์ใช่ไหม ไม่ใช่ เพื่อญาณทัสสนะที่บริสุทธิ์หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ๆ รวมแล้วก็คือ ธรรมะทั้ง 7 ประการที่เป็นเส้นทางไปสู่ความบริสุทธิ์ พระปุณณมันตานีบุตรบอกว่าท่านไม่ได้ปฏิบัติเพื่อสิ่งเหล่านี้ ท่านปฏิบัติธรรมเพื่ออนุปาทิเสสนิพพาน ไม่มีเชื้อเหลือ ไม่มีขันธ์เหลือ วิสุทธิ 7 เป็นทางไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น แต่เราอย่ายึดตัวทาง มิฉะนั้นเราจะไปไม่รอด ไปไม่ถึงฝั่ง พระสารีบุตรบอกว่าที่ท่านพระปุณณมันตานีบุตรพูดมา นั่นก็ไม่เอานี่ก็ไม่เอา แล้วก็บอกไม่มีทางอื่นที่จะบรรลุมรรคผล ก็มีแต่วิสุทธิ 7 นี่ล่ะ แต่วิสุทธิ 7 ท่านก็ไม่เอา จะเอาอย่างไรกันแน่ พระปุณณมันตานีบุตรท่านก็เลยบอกว่าจะเปรียบเทียบให้ฟัง พระเจ้าปเสนทิโกศลอยู่ที่สาวัตถี แล้วได้เมืองสาเกตมาอีกเมืองหนึ่ง เป็นเมืองใหญ่เศรษฐกิจดี แกต้องปกครองเมืองใหญ่ๆ 2 เมืองซึ่งตั้งอยู่ห่างกัน ฉะนั้นเวลามีราชการด่วน พระเจ้าปเสนทิโกศลจะเดินทางจากสาวัตถีไปสาเกต จะนั่งรถม้าคันเดียวไป ม้าวิ่งไม่ไหว เขาก็เลยมีสถานีรายทาง 7 สถานีทั้งหมด ตั้งแต่สถานีที่หนึ่งคือจากสาวัตถีไปที่สอง สาม สี่ สถานีที่เจ็ดก็ถึงเมืองสาเกต บอกเวลานั่งรถม้า ก็วิ่งไปเต็มที่เลย วิ่งเร็วๆ เต็มเหนี่ยว พอไปถึงสถานีที่สองม้ามันเหนื่อยแล้ว เปลี่ยนรถ ขึ้นรถอีกคันหนึ่ง ม้าอีกฝูง อีกคู่หนึ่ง วิ่งต่อไปอีก เป็นรถ 7 ผลัด เดินทางไปด้วยรถ 7 ผลัด ในที่สุดก็ถึงเมืองสาเกต ถ้าคนที่เมืองสาเกตถามพระเจ้าโกศลว่า พระองค์เสด็จมาด้วยรถม้าคันสุดท้ายนี้หรือ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาได้เพราะอาศัยรถทั้ง 7 ผลัด คืออาศัยวิสุทธิ 7 นั่นเอง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ถึงที่สุดแห่งทุกข์เพราะญาณทัสสนวิสุทธิ ไม่ใช่แค่นั้น เราก็จะรู้คุณงามความดีทั้งหลายที่เราทำมา เป็นไปเพื่อส่งทอดเราไปสู่นิพพาน ถ้าเรายึดคุณงามความดีอันนั้นเอาไว้อย่างเหนี่ยวแน่น เราก็ไปนิพพานไม่ได้ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 12 พฤษภาคม 2567

Direct download: 670512.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เราเรียนธรรมะ สิ่งที่เราจะได้มาก็คือตัวสัมมาทิฏฐิ ความรู้ถูก ความเข้าใจถูก ไม่ได้อย่างอื่น สิ่งที่ได้จริงๆ แค่สัมมาทิฏฐิ ถ้าเรารู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ เรียกเรารู้จักสัมมาทิฏฐิแล้ว ใจเราก็จะหมดตัณหา หมดความยึดถือ หมดความอยาก หมดความยึด หมดความดิ้นรน ความอยากคือตัณหา ความยึดถือคืออุปาทาน ความดิ้นรนของจิตคือภพ ถ้าหมดสิ่งเหล่านี้ จิตก็จะไม่ไปหยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันจะไม่ไปหยิบฉวยจิตขึ้นมา ขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ ถ้าจิตเราไม่ไปหยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา จิตมันก็พ้นทุกข์ คือพ้นจากขันธ์ 5 หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 11 พฤษภาคม 2567

Direct download: 670511.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

รู้สึกลงไป ร่างกายที่นั่งอยู่มันของถูกรู้ รู้สึกไหม ร่างกายที่ขยับมันถูกรู้ ไม่ต้องไปเกร็ง ไม่ต้องจ้อง ขยับแล้ว จ้อง ไม่ได้เรื่องอย่างนั้น ร่างกายที่หายใจออกก็ถูกรู้ ร่างกายที่หายใจเข้าก็ถูกรู้ อันนี้เป็นการจะก้าวไปสู่การรู้ทันจิตตัวเองได้ ร่างกายมันถูกรู้ ใครเป็นคนรู้ จิตเป็นคนรู้ ร่างกายหายใจถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง จิตเป็นคนรู้ ค่อยๆ ฝึกไป แล้วเราจะสามารถแยกได้ว่ากายกับจิตคนละอันกัน พอเราแยกกายกับจิตเป็นคนละอันกันได้แล้ว เราจะเริ่มเดินปัญญาต่อได้แล้ว เราจะเห็นว่าร่างกายเป็นไตรลักษณ์ ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เป็นของถูกรู้ถูกดู มันเป็นอนัตตาอยู่ ร่างกายที่หายใจออกก็ไม่เที่ยง ร่างกายหายใจเข้าก็ไม่เที่ยง ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ก็ไม่เที่ยง ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง ก็ไม่เที่ยง เห็นความไม่เที่ยงของร่างกายได้ เราไม่ได้ฌาน เราดูกายด้วยวิธีนี้ ดูให้เห็นว่ากายมันเป็นของถูกรู้ แล้วเราจะแยกกายกับจิตออกจากกันได้ เรียกแยกรูปแยกนาม แยกธาตุแยกขันธ์ได้ เราก็จะเจริญปัญญาต่อได้โดยที่เรายังไม่ได้ฌาน ถ้าเราไม่ได้ฌานแล้วเราดูไปด้วย ร่างกายมันถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ ร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ต่อไปเราก็จะเห็นจิตเองก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตเดี๋ยวก็รู้กาย เดี๋ยวก็หนีไปคิดเรื่องอื่น เดี๋ยวก็รู้กาย เดี๋ยวก็ไปดูเรื่องอื่น จิตมันวิ่งไปวิ่งมา เราก็จะเห็น จิตมันบางทีก็มีความสุข บางทีมันก็มีความทุกข์ บางทีก็เป็นกุศล บางทีก็เป็นอกุศล เราอาศัยการดูกายในเบื้องต้น แล้วพอแยกกายกับจิตออกจากกันได้แล้ว เราจะดูจิตได้ อันนี้เป็นวิธีทริกนิดหนึ่ง แต่ว่าหลวงปู่มั่นก็สอน รู้กายเพื่ออะไร เพื่อให้เห็นจิต อันนี้ท่านก็สอนเหมือนกัน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 5 พฤษภาคม 2567

Direct download: 670505.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ชาวพุทธเราร่อยหรอเต็มทีแล้ว ชาวพุทธเราไม่ได้เชื่อฟังพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ได้ใส่ใจในการศึกษา ชาวพุทธเรายังตกอยู่ในความประมาท ใช้ชีวิตร่อนเร่ไปวันๆ หนึ่ง แล้วก็หวังพึ่งคนอื่น หวังพึ่งสิ่งอื่น ไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อผลของกรรม ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก มันเป็นพุทธแต่ชื่อหรอก ไม่มีการศึกษาอย่างยิ่งเลย อย่างพระพุทธเจ้าบัญชาให้มาทำโน้นนี้ ไร้สาระ หรือเป็นพระอนาคามีมาเกิด โกหกซึ่งหน้า “อนาคา” แปลว่า “คนไม่กลับมาแล้ว” ไม่กลับมาสู่โลกนี้แล้ว มันจะมาได้อย่างไร พระอนาคามีละกามคุณอารมณ์ได้แล้ว ละกามาวจรได้แล้ว โลกนี้เป็นกามาวจร กามาวจรภูมิ ภูมิของคนที่ยังเสพกามอยู่ พระอนาคามีพ้นไปแล้ว ขึ้นไปสู่รูปภูมิ อรูปภูมิโน่น ฉะนั้นเชื่อกันแบบไม่มีการศึกษา เชื่องมงาย หวังแต่จะพึ่งปาฏิหาริย์ ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก ชาวพุทธเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในการศึกษาปฏิบัติ ไม่ประมาทในการดำรงชีวิตของเรา ถ้าทำอย่างนี้ได้ เราก็จะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงได้ ถ้าหวังพึ่งปาฏิหาริย์ หวังพึ่งคนอื่นให้มาช่วยเรา ต้องรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 4 พฤษภาคม 2567

Direct download: 670504.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 2:30pm +07

จิตมันเป็นตัวทุกข์ มันอยู่ในกองทุกข์ ในขันธ์ 5 ส่วนใหญ่เป็นตัวทุกข์ ยกเว้นตัวโลภะอย่างแรงๆ เป็นตัวสมุทัย เป็นตัณหา นอกจากนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นตัวทุกข์ จิตก็เป็นตัวทุกข์ ถ้าเรารู้แจ้งแทงตลอดว่าจิตเป็นตัวทุกข์ เรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง เราก็ละสมุทัย ละความอยาก เมื่อละความอยากได้ เราก็ละความยึดถือจิตได้ เมื่อเราละความยึดถือจิตได้ ภพคือความดิ้นรนที่จะแสวงหาจิต หรือที่จะปล่อยวางจิต หรือที่จะรักษาจิต มันก็ไม่มี พอเราหมดความยึดถือจิต มันก็ไม่มีการที่จะต้องเที่ยวแสวงหาจิต ไม่มีการรักษาจิต ไม่มีความพยายามจะต้องปล่อยวางจิต เมื่อเราไม่มีความดิ้นรนของจิต คือไม่มีภพ จิตก็จะไม่หยิบฉวยจิตขึ้นมา คือไม่มีชาติ ทันทีที่ไม่มีชาติ ความทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น สิ้นชาติก็สิ้นทุกข์กันตรงนั้นล่ะ เพราะชาติคือการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ใช่ของดีของวิเศษ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจคือตัวทุกข์ ถ้าเราภาวนาจนเราแจ้งตรงนี้ เรียกว่าเราล้างอวิชชาได้แล้ว รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจแล้ว หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 28 เมษายน 2567

Direct download: 670428.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ตัวผู้รู้เราก็ไม่รักษา แต่มันต้องพัฒนาให้มีขึ้นมาเพื่อใช้งาน เราก็จะเห็นว่าตัวผู้รู้เองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ อย่างจิตเราโกรธ พอเรารู้ว่าโกรธ จิตโกรธดับ จิตผู้รู้เกิด มีอารมณ์มากระทบทางหู มีเสียงเพลงเพราะๆ จิตเกิดราคะขึ้น สติระลึกรู้ จิตที่มีราคะก็ดับ จิตที่รู้ก็เกิด จิตรู้มันจะคั่นจิตที่หลง นานาชนิด มันจะมีตัวรู้แทรกๆๆๆ เข้ามา แล้วมันก็จะทำให้เราเห็นว่า จิตมีราคะอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตสุข จิตทุกข์ อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ เราจะเห็นอย่างนี้ แล้วเราก็เห็นลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง จิตผู้รู้เองก็เกิดดับ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลงไปดูรูป เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็หลงไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ เห็นมันเกิดดับอยู่ทางทวารทั้ง 6 พอมันกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 แล้ว มันก็จะเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศลขึ้นมา ค่อยๆ มีสติตามรู้จิตของตัวเองไปเรื่อยๆ ทีแรกเราก็สามารถแยกจิตกับเจตสิกออก เราก็เห็นจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว ล้วนแต่เกิดแล้วดับทั้งสิ้น พอสติเราเข้มแข็ง เราก็เห็นจิตผู้รู้ก็เกิดดับ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้อยู่เฉยๆ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ที่มีความสุข ผู้รู้มีอารมณ์ มีความรู้สึก มีเวทนา เกิดร่วมกับจิตผู้รู้ 2 ชนิด คือ โสมนัสเวทนา คือความสุข กับอุเบกขา เพราะฉะนั้นบางทีเราฝึกมา จิตเราเป็นผู้รู้ บางทีเป็นผู้รู้เฉยๆ มีอุเบกขา บางทีก็มีความสุขแทรกขึ้นมาพร้อมๆ กัน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 27 เมษายน 2567

Direct download: 670427.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

Direct download: 670425.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

คนในโลกจะติดในสิ่งเหล่านี้ เรียกอุปาทาน มี 4 อัน อันหนึ่งเรียกกามุปาทาน ติดในความสุขความสบาย อยากได้ อีกอันหนึ่งเรียกทิฏฐุปาทาน ติดในความคิดความเห็น ในลัทธิ ในอุดมการณ์ อย่างกามุปาทาน อยากได้วัตถุสิ่งของมากมาย ก็ไปแย่งชิงคนอื่นเขา ระหว่างประเทศก็ไปทำสงคราม แย่งแผ่นดินกัน แย่งผู้คนกัน สมัยโบราณ แย่งผู้คน เดี๋ยวนี้แย่งทรัพยากร เพราะว่าเพราะกาม พวกหนึ่งก็ฆ่ากันตายด้วยอุดมการณ์ เพราะยึดอุดมการณ์ยึดความคิดความเห็น อย่างหยาบๆ ที่ไม่รุนแรงมาก อย่างเรายึดความเห็นของเรา ใครเห็นต่างกับเรา เราโมโห ยึดในทิฏฐิ สิ่งที่ยึดอีกอันหนึ่งก็คือ ยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล จะตัดสินทุกอย่าง ด้วยตัวเองทั้งหมดเลย เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง มองทุกอย่างด้วยสายตาของตัวเอง เรียกอัตตวาทุปาทาน เอาอัตตาตัวตนนั่นล่ะเป็นสำคัญ อีกอันหนึ่งคือสีลัพพตุปาทาน ยึดในข้อประพฤติข้อปฏิบัติ ต้องทำอย่างนี้ ถึงจะดี อย่างอื่นไม่ดี หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 21 เมษายน 2567

Direct download: 670421.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ฝึกกันนานกว่าจิตจะมีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่ถ้าเราจะทำพอเป็นนิสัย เรียกพอเป็นนิสัย ก็ทำบ้างหยุดบ้าง ก็ไม่เป็นไรหรอก ทำไปเรื่อยๆ สะสมไปหลายๆ ชาติ ต่อไปพระเมตไตรยมาตรัสรู้ เราก็ไปเรียนกับท่าน แล้วนิสัยอ่อนแอโหลยโท่ยอย่างนี้ ไปเจอพระศรีอาริย์ มันก็นิสัยเหลวไหลเหมือนเดิม อันนี้ไม่ใช่หลวงพ่อพูด ครูบาอาจารย์ท่านเคยเล่า บอกบางคน บอก โอ๊ย ค่อยๆ ทำไปนิดๆ หน่อยๆ สะสมเอาไว้ เดี๋ยวไปเจอพระศรีอาริย์ค่อยเอาจริง หลวงปู่ดูลย์บอก คนชนิดนี้มันไม่เอาจริงหรอก มันเหลวไหลตั้งแต่ชาตินี้ เจอพระศรีอาริย์มันก็เหลวไหลอีก เพราะมันเคยแต่เหลวไหล เพราะฉะนั้นเราจะผ่านพระพุทธเจ้านับจำนวนไม่ถ้วน ที่เราเวียนว่ายตายเกิดมายาวนานขนาดนี้ ผ่านพระพุทธเจ้ามานับจำนวนไม่ถ้วน ก็เพราะนิสัยเหลวไหลนี่ล่ะ นิสัยไม่สู้ ยอมให้กิเลสมันลากมันจูงเราไป มันต้องสู้ ต้องสู้ ยอมลำบากเสียก่อนแล้วสบายทีหลัง บอกเลยว่าภาวนาแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้มันมหาศาล มันมีความสุขที่ไม่มีอะไรเหมือน ความสุข มันมีความสงัดอยู่ภายใน ไม่ใช่สงบนะ มันสงัดอยู่ข้างใน จิตมันทรงสมาธิอัตโนมัติอยู่ มันสงัดอยู่ภายใน แล้วมันก็สงบ สงบ ความสุขมันล้นเอ่อขึ้นมา โดยจิตไม่ติดมัน ถ้าจิตยินดีพอใจเมื่อไร ก็แสดงว่ายังไม่ใช่ ยังบรรลุมรรคผลไม่พอ ต้องทำอีก ก็ต้องฝึก ของฟรีไม่มี ธรรมะก็อยู่ใต้กฎแห่งกรรม ทำอย่างไรก็ได้ผลอย่างนั้น ของฟรีไม่มี ของฟลุกไม่มี หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 20 เมษายน 2567

Direct download: 670420.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ถือศีลเราก็มีความสงบ สงบกาย สงบวาจา ทำสมาธิ สงบใจ สงบกาย สงบวาจาก็มีความสุขระดับหนึ่ง ทำสมาธิ สงบเข้าถึงใจ มีความสุขไปอีกระดับหนึ่ง ถ้าเราเจริญปัญญา เราจะพบความสุขที่มหาศาลยิ่งกว่านั้นอีก เกิดปัญญาเข้าใจอะไรอย่างหนึ่งขึ้นมา จิตจะมีความสุข ความสุขอันนี้ไม่เหมือนความสุขของสมาธิ ไม่เหมือนความสุขของการรักษาศีล ความสุขของปัญญามันอิ่มเอิบ ความสุขที่เหนือกว่านั้นคือความสุขของวิมุตติ โดยเฉพาะความสุขของพระนิพพาน ตรงนี้ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า “นิพพานัง ปะระมัง สุขัง” พระนิพพานเป็นบรมสุข สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี แล้วสิ่งที่เรียกว่าสงบคือพระนิพพาน พระนิพพานคือสุดยอดของความสงบ ถ้าเราต้องการมีชีวิตที่มีความสุข อย่าทำตัวเหมือนหมาขี้เรื้อน หมาขี้เรื้อนอยู่ตรงนี้ก็คัน ต้องวิ่งไปอยู่ที่อื่น แล้วก็ประเดี๋ยวก็คันอีกก็วิ่งอีก การที่เราต้องวิ่งพล่านๆ เที่ยวหาความสุขจากโลกภายนอก มันคือกิริยาอาการแบบเดียวกับหมาขี้เรื้อนนั่นล่ะ แต่เราก็ไม่ได้ว่าเขา เพราะคนในโลกไม่มีโอกาสได้ฟังธรรม ไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติธรรม ไม่มีโอกาสได้สัมผัสพระธรรม เขายังจำเป็นต้องวิ่งพล่านไป เพราะคิดว่านั่นดีที่สุดสำหรับเขาแล้ว เราก็อย่าว่าเขา เพราะเมื่อก่อนเราก็เป็นแบบนั้นล่ะ พวกเราสะสมบุญบารมี เราได้ฟังธรรม เราได้ลงมือปฏิบัติธรรม เราได้เข้าใจธรรมะ ชีวิตเราก็เข้าถึงสันติสุขที่แท้จริงมากขึ้นๆ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 14 เมษายน 2567

Direct download: 670414.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 7:00am +07

มนุษย์ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ต่างกับเดรัจฉานตรงมีวัฒนธรรมนี่ล่ะ วัฒนธรรมก็เกิดขึ้นมาด้วยเหตุผล ความจำเป็นของสังคม เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราก็มีวัฒนธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีผู้ให้ มีผู้รับ ผู้ที่เขาให้เราก่อนเรียกบุพการี เป็นคนที่หาได้ยาก คนที่ให้เราก่อนโดยไม่หวังผลอะไร เราต้องนึกถึง อย่าไปเชื่อความเห็นของมาร อย่างยุคนี้ไม่มีศีล ไม่มีธรรม ไม่มีวัฒนธรรม อันนั้นมันหมาแล้ว หมามันยังกตัญญู มันคล้ายๆ สัตว์ ในนี้สัตว์เยอะ ลูกสัตว์พอมันโต มันก็แยกตัวออกไปทำมาหากิน มีครอบครัวของมัน มันไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่เป็นเรื่องแปลก เพราะว่าเขาเป็นเดรัจฉาน ถ้าเราไม่ใช่เดรัจฉาน เราก็นึกถึงพ่อถึงแม่เราบ้าง นึกถึงผู้มีพระคุณของเราบ้าง มันเป็นสิ่งที่ดีงาม หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 13 เมษายน 2567

Direct download: 670413.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 5:00pm +07

Direct download: 670408.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้สึกตัว เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่าความรู้สึกตัว เป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติ ที่จะล้างอาสวกิเลสทั้งหลายได้ ถ้าปราศจากความรู้สึกตัว โอกาสยากมากที่จะสู้กิเลสได้ ก็หลงทั้งวัน มันก็กลายเป็นเครื่องมือของกิเลสทั้งวัน หลงตลอดเวลา โมหะเอาไปกินเอาไปครอบงำไว้ทั้งวัน ไม่เคยรู้สึกตัว พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าท่านไม่เห็นธรรมะใดสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัว ธรรมะที่เป็นไปเพื่อจะลดละกิเลส เพื่อจะพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทำไปด้วยความรู้สึกตัว ถ้าอานาปานสติหายใจออก รู้สึกตัว หายใจเข้า รู้สึกตัว ถ้าดูอิริยาบท 4 ยืน รู้สึกตัว นั่ง รู้สึกตัว เดิน รู้สึกตัว นอน รู้สึกตัว ทำสัมปชัญญบรรพ เคลื่อนไหว รู้สึก หยุดนิ่ง รู้สึก เน้นตรงที่รู้สึก แล้วการที่เรารู้สึกอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากความรู้สึกตัวแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือความสงบ คือสมาธิ เพราะฉะนั้นถ้าหากเราทำกรรมฐานโดยเน้นที่ความรู้สึกตัว เราจะได้สมาธิชนิดที่ตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 7 เมษายน 2567

Direct download: 670407.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

มันไม่มีอะไรที่แน่นอนสักอย่างเดียวเลย เพราะฉะนั้นความดีใดๆ ก็ตาม จะเป็นทาน เป็นศีล เป็นภาวนา ความดีใดๆ ก็ตาม มีโอกาสทำให้รีบทำ อย่าเอาไว้ก่อนเอาไว้ก่อนเอาไว้ก่อน แล้วไม่ได้ทำ แล้วเราจะเสียใจทีหลัง ไม่ว่าชีวิตจะดีหรือจะเลว สุดท้ายเราก็อยู่ในโลกนี้ชั่วคราวเท่านั้นล่ะ จากไปโดยมีสมบัติติดตัวไปหรือว่าไม่มี จะต้องรอรับส่วนบุญของคนอื่น เราทำเอาเองได้ทั้งนั้น มางานศพทั้งที คนตายเขาได้แสดงธรรมะให้เราดู ว่าเกิดแล้วตายแน่นอน พวกเรายังไม่ทันจะตาย เรามาฟังธรรมะเพื่อเตรียมตัวตายอย่างมีศักดิ์ศรี เตรียมตัวตายอย่างคนมีปัญญา แบบลูกศิษย์มีครู ไม่ใช่ตายแบบอนาถา ตายแล้วก็ต้องมาวิ่งตะกาย ขอให้คนแผ่ส่วนบุญให้ หวังพึ่งอะไรอย่างนั้น พวกผีพวกเปรต อายุมันยืนกว่าคน สมมุติว่าเราไปเป็นเปรต ลูกหลานเราทำบุญให้เรา เหลนเราตายแล้ว เรายังไม่ตายเลย ไม่มีใครทำบุญให้แล้ว ต่อไปก็เป็นผีไร้ญาติจนได้ พูดง่ายๆ อายุยืนกว่ามนุษย์ เพราะฉะนั้นทำไว้ด้วยตัวเองปลอดภัยที่สุด หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช สำนักสงฆ์โสธรธรรมนิมิต 6 เมษายน 2567

Direct download: 670406B.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์สอนให้ดูกายก่อน เพราะมันดูง่าย มันเป็นของหยาบ ร่างกายไม่เคยหนีไปไหนเลย มีแต่จิตเราหนีไปจากร่างกาย พอเรารู้ความจริงของร่างกาย มันเป็นของไม่เที่ยง มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา มันบังคับควบคุมอะไรไม่ได้ มันเป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง พอใจมันเห็นความจริง ใจมันก็จะหมดความยึดถือในร่างกาย ในส่วนนามธรรมเราก็ดูไป ค่อยๆ แยกสภาวธรรม ให้มันละเอียดขึ้น เราจะเห็นว่าจิตนั้นก็เป็นสภาวะอันหนึ่ง ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่สุขไม่ทุกข์โดยตัวของมันเอง มันดีมันชั่ว มันสุขมันทุกข์ เพราะมีธรรมะอย่างอื่น มีขันธ์อย่างอื่น นามขันธ์อันอื่นที่ไม่ใช่จิตเข้ามาปรุงแต่ง ความสุขมาปรุงแต่งขึ้นมา มันก็เป็นเราสุข ความทุกข์ปรุงแต่งก็เป็นเราทุกข์ ความดีปรุงแต่งก็เป็นเราดี ความโลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นมา เราโลภ เราโกรธ เราหลง กลายเป็นเราทุกทีไป ถ้าหัดแยกได้ เราก็จะเห็นเวลาความสุขเกิดขึ้น เราจะเห็นว่าจิตก็เป็นอันหนึ่ง ความสุขก็เป็นอันหนึ่ง ความสุขกับจิตเป็นสภาวธรรมคนละชนิดกัน เกิดด้วยกัน แต่ว่ามันเป็นคนละอย่างกัน ความสุขทั้งหลายล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ จิตที่ไปรู้ความสุขเข้า ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับไม่ได้เหมือนกัน หัดดูอย่างนี้เรื่อยๆ ไป แล้วต่อไปพอจิตใจเราประณีตมากขึ้น เราจะเห็นว่ากระทั่งตัวจิตเองก็เกิดดับ จิตไม่ได้มีดวงเดียว จิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายก็คือไม่ว่าจะเห็นจิตผู้รู้เป็นอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา สุดท้ายก็คือปล่อยวางจิต ปล่อยวางจิตได้ก็ปล่อยวางขันธ์ทั้งหมดได้ ปล่อยวางขันธ์ทั้งหมดได้ ก็ปล่อยโลกทั้งหมดได้ ก็ไม่ยึดถือสิ่งใดในโลกอีกแล้ว จิตก็พ้นจากความทุกข์ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 31 มีนาคม 2567

Direct download: 670331.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

1 « Previous 2 3 4 5 6 7 8 Next » 72