หัดดูตัวเองตั้งแต่เริ่มเลย รู้สึกตัวขึ้นมา รู้สึกกายรู้สึกใจ หัดดูไปเรื่อย กิเลสอะไรทำงานขึ้นมา รู้ทัน กิเลสอะไรซ่อนเร้นอยู่ รู้ทัน หัดรู้ไปเรื่อย ทีแรกก็รู้กิเลสหยาบๆ ต้องโกรธแรงๆ ถึงจะรู้ ต้องโลภแรงๆ ถึงจะรู้ หัดรู้บ่อยๆ ต่อไปขัดใจเล็กๆ ก็เห็น ความอยากเล็กๆ เกิดขึ้นก็เห็น หัดรู้กิเลสของตัวเองไว้ให้ดีตั้งแต่เริ่มต้นเลย ถ้ารู้ทันกิเลสตัวเอง เวลาที่คิดว่าบรรลุมรรคผลอะไร ก็คอยสังเกตกิเลสตัวเองไป กิเลสอะไรยังไม่ละ กิเลสอะไรละแล้ว ละชั่วคราวหรือละถาวร สังเกตเอา ไม่ต้องเที่ยวถามคนโน้นคนนี้ เชื่อถือไม่ได้หรอก มีจำนวนมากเลยที่ไปเรียนที่โน้นที่นี้ที่โน่น ไปเรียนมาจากที่ต่างๆ แต่ละที่เขารับรอง ได้โสดาบัน ได้สกทาคามี ได้อนาคามี เขารับรองให้ ไปเรียนอยู่ที่อื่น เขารับรองแล้วมาถามหลวงพ่ออีก จะให้หลวงพ่อรับรอง เรารับรองให้ไม่ได้ ไม่ใช่หน้าที่ แต่หลวงพ่อจะสอนให้ ไปสังเกตกิเลสตัวเองเอา กิเลสอะไรละแล้ว กิเลสอะไรยังไม่ละ ที่ละนั้นละเด็ดขาดหรือว่าละชั่วครั้งชั่วคราว กิเลสไม่ใช่ของเกิดตลอดเวลา มันเกิดเป็นคราวๆ กระทั่งสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่ามีตัวมีตน ก็เกิดเป็นคราวๆ ฉะนั้นไม่ใช่นึกๆ เอาว่า เอ๊ะ ตอนนี้ไม่มี ตอนนี้ไม่มีประเดี๋ยวมันมีก็ได้ ฉะนั้นหัดสังเกตกิเลสตัวเองไว้ให้ดีเถอะ หลวงพ่อไม่ได้พยากรณ์ให้ใครหรอก แต่จะชี้ให้ดู ชวนให้ดูกิเลสของตัวเอง หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 20 มกราคม 2567

Direct download: 670120.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เราจะปฏิบัติธรรมเราต้องรู้หลักให้ดี งานที่เราจะทำ งานหลักคือการทำวิปัสสนากรรมฐาน อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานคือรูปธรรมนามธรรม อย่างร่างกายเราเป็นรูปธรรม ความรู้สึกนึกคิด ความรับรู้ทั้งหลายเป็นนามธรรม เจริญปัญญานี้ก็ต้องรู้รูปธรรมรู้นามธรรม ทีแรกรู้ถึงความมีอยู่ของรูปธรรม ถัดจากนั้นรู้ถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปธรรม หรือเบื้องต้นรู้ความมีอยู่ของนามธรรม ถัดจากนั้นก็รู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของนามธรรม ทีแรกรู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจ แล้วต่อไปก็เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ร่างกายนี้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป ถูกความทุกข์บีบคั้น เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อยๆ จิตใจมีแต่ความไม่เที่ยง แปรปรวนตลอดเวลา แล้วก็บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เห็นความจริงของร่างกาย เห็นความจริงของจิตใจไป อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าการเจริญปัญญา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 14 มกราคม 2567

Direct download: 670114.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

รู้ทุกข์ไว้ อะไรคือทุกข์ กาย จิตคือทุกข์ รู้อย่างไร รู้อย่างที่มันเป็น รู้กายอย่างที่กายเป็น คือเป็นอะไร เป็นไตรลักษณ์ รู้จิตอย่างไร รู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตเป็นอย่างไร จิตเป็นไตรลักษณ์ จะ รู้กายรู้จิตว่าเป็นไตรลักษณ์ได้ ไม่หลง ไม่ลืมกายลืมใจ ไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิดความฝัน แล้วก็ไม่บังคับแทรกแซงกาย แทรกแซงจิต เรียกว่ารู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็น ไม่ลืมกาย ไม่ลืมจิต แล้วก็ไม่ไปแทรกแซงให้มันผิดจากความเป็นจริง หัดรู้ไปเรื่อยๆ หัดรู้อย่างไร หัดหมายรู้ ถ้าหมายรู้ถูก ต่อไปความคิดมันก็จะถูก เมื่อความคิดถูก ความเห็นมันก็จะถูก ความเห็นถูกเขาเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินั่นล่ะ เกิดขึ้นเมื่อไร อวิชชาตายไปแล้วเมื่อนั้น พออวิชชาตายไปแล้ว อาสวะก็ย้อมจิตไม่ได้ ชาติภพอะไร มันก็ไม่สามารถก่อตัวขึ้นที่จิตได้แล้ว ภพชาติไม่ได้ก่อตัวที่อื่นเลย มันก่อตัวที่จิตนี้ล่ะ เมื่อจิตยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง ภพชาติก็ก่อตัวขึ้นได้ ด้วยกำลังของอาสวะ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 13 มกราคม 2567

Direct download: 670113.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

พระพุทธเจ้าท่านบอก “จิตที่ไม่ประกอบด้วยกิเลส สุคติก็เป็นอันหวังได้” อย่างการทำทาน การช่วยเหลือคนอื่นอะไรอย่างนี้ เขาทำโดยที่ไม่หวังผลตอบแทน เป็นบุญที่สูง อย่างถ้าเราจะทำบุญสักอย่าง เราก็ยกมือจบเหนือหัว เจ้าประคุณที่บริจาคทรัพย์ครั้งนี้ ขอให้เกิดมาเมื่อไรก็รวยเมื่อนั้น ชาตินี้ก็ขอให้รวยๆๆๆ นี่เจือด้วยกิเลส ทำบุญแบบนี้ได้บุญเล็กน้อยเท่านั้นล่ะ ไม่ได้บุญเยอะหรอก เพราะว่าทำบุญไปด้วยทำบาปไปด้วย เราจะทำบุญ ทำให้มันบริสุทธิ์จริงๆ ทำไปแล้วต้องลดละความเห็นแก่ตัวให้ได้ จับหลักตัวนี้ไว้ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้หัดทำบุญให้เป็น ทำบุญให้เป็นไม่ต้องจ่ายเงินก็ได้ อย่างเราเห็นใครเขาดี เราก็ดีใจกับเขาด้วย คนนี้เขาทำความดีเราดีใจกับเขา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดปริวาสราชสงคราม 8 มกราคม 2567

Direct download: 670108.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ถ้าเราภาวนาไปถึงจุดหนึ่ง เราจะเห็นความทุกข์ไม่ใช่สิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย ทุกข์ที่แท้จริงหรือทุกขสัจ ทุกข์ที่แปลกปลอมเข้ามาในร่างกายเรา ชั่วครั้งชั่วคราว เดี๋ยวมาแล้วก็ไป เรียกว่าทุกขเวทนา ความทุกข์ที่แทรกเข้ามาในจิตใจก็เป็นทุกขเวทนาทางใจ มีศัพท์เฉพาะของพวกอภิธรรม เขาเรียกว่าโทมนัสเวทนา ความทุกข์อย่างนี้เห็นไม่ยาก แต่เดิมหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อก็คิดว่า ความทุกข์เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าเราไม่ไปยึดไปถือ เราก็ไม่ทุกข์ด้วย มันทุกข์เพราะเราไปยึดขันธ์ 5 ถ้าเราไม่ยึดขันธ์ 5 เราก็ไม่ทุกข์ พอภาวนาละเอียดขึ้นไปพบว่าไม่ใช่ ที่คิดว่าใช่มันไม่ใช่เสียแล้ว เดิมคิดว่าขันธ์ 5 มันเป็นตัวกลางๆ แต่พอจิตเราเข้าไปหยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา จิตเลยทุกข์ พอภาวนาไปเรื่อยๆ ก็เห็นความจริง รูปนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ทุกข์โดยตัวของมันเอง เราจะเข้าไปยึดถือหรือไม่ยึดถือ รูปก็คือตัวทุกข์ นามธรรมก็คือจิตเรานี้ เราจะยึดถือหรือไม่ยึดถือ จิตนั้นก็คือตัวทุกข์ พอรู้แจ้งเห็นจริงว่ารูปคือตัวทุกข์ จิตถึงจะปล่อยวางรูป เรียกรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็ละสมุทัยได้ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 7 มกราคม 2567

Direct download: 670107.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ทำไมบางคนเขาภาวนาได้ผลเร็ว บางคนได้ผลช้า ต้นทุนเขาดี เขาก็มีโอกาสได้ผลเร็ว หลวงพ่อใช้คำว่ามีโอกาส เพราะไม่ใช่ต้นทุนดีอย่างเดียว แล้วจะต้องดีเสมอไป ตัวชี้ขาดของเราที่ต้องพัฒนาให้ดีเลยคือกรรมใหม่ กรรมเก่ามันแก้อะไรไม่ได้แล้ว มันทำไปแล้ว จบไปแล้ว ถ้ามีกรรมเก่าที่ดีก็รับผลดีไป กรรมเก่าไม่ดีก็รับผลไม่ดีไป ถึงเราได้รับผลที่ไม่ดี บางคนรูปร่างดูไม่ได้เลย แต่ทำไมคนรักใคร่ คนชอบที่จะอยู่ใกล้ๆ ครูบาอาจารย์บางองค์รูปร่างท่านไม่งาม กิริยาท่าทางก็ไม่งาม แต่ทำไมคนอยากอยู่ใกล้ๆ เทวดาก็อยากอยู่ใกล้ๆ เพราะจิตใจท่านงาม ที่จิตใจท่านงามได้ เพราะกรรมใหม่ท่านดี ตั้งอกตั้งใจทำทาน รักษาศีล ภาวนา ทำทุกวันๆ เพราะฉะนั้นระหว่างกรรมใหม่กับกรรมเก่า กรรมใหม่สำคัญที่สุด มันอยู่ในปัจจุบัน กรรมเก่าทำไปแล้ว มันแก้ไม่ได้ แก้ไม่ได้ก็ปล่อยมันไป เพียงแต่ว่าเราอย่าไปทำกรรมชั่วซ้ำขึ้นในปัจจุบันนี้เท่านั้นล่ะ แล้วพยายามรักษาศีลของเราไว้ให้ดี เจริญสมาธิ ฝึกของเราทุกวัน บางคนไม่เคยฝึกมาก่อน สงบยาก สงบยากก็ช่างมัน ก็ฝึกทุกวัน ทุกวันต้องไหว้พระสวดมนต์ ทุกวันต้องทำในรูปแบบ นั่งสมาธิ เดินจงกรมอะไรต้องทำ ถ้าอยากพ้นทุกข์จริงๆ ต้องทำ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 6 มกราคม 2567

Direct download: 670106.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

คำว่า “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นศัพท์เฉพาะ เป็นการเรียนแบบทำงานวิจัย สุ่มตัวอย่างมา สุ่มตัวอย่างของรูปธรรม สุ่มตัวอย่างของนามธรรมบางอย่างมาเรียนรู้ เหมือนกับงานวิจัยปัจจุบันนี้ล่ะ สุ่มตัวอย่างมาศึกษา ตัวอย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านเลือกไว้ให้แล้ว อยู่ในสติปัฏฐาน ไปดูเอา นี้คือการเรียนแบบทำวิจัย เรียกว่า “ธัมมวิจยะ” ฉะนั้นธรรมะสำหรับคนคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเรียนเยอะๆ อะไร สภาวะอันใดที่เรารู้ได้ชัด รู้ได้บ่อย เอาอันนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐานของเรา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 1 มกราคม 2567

Direct download: 670101.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เวลาเราจะภาวนา เราก็นั่งปรุงแต่งไป ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด เวลาภาวนาจะอยากปฏิบัติ ก็จะไปสร้างภพของนักปฏิบัติขึ้นมา ภพก็คือความปรุงแต่ง ไปแต่งจิตให้มันนิ่งๆ ทื่อๆ หรือบังคับกาย บังคับใจ นั่นคือความปรุงแต่งทั้งหมดเลย ถ้าตราบใดที่เรายังหลงอยู่ในโลกของความปรุงแต่ง เราจะไม่เห็นความว่างของธาตุทั้ง 6 จะไม่เห็นความว่างของร่างกาย ซึ่งประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ตั้งอยู่ในช่องว่าง คืออากาศธาตุ เราจะไม่เห็นว่าจิตใจมันก็เป็นธาตุ เป็นธาตุรู้ เพราะความปรุงแต่งนั้นเป็นเครื่องพะรุงพะรัง ออกมาปิดบังความว่างเอาไว้ อย่างอากาศ จักรวาลนี้มันว่าง เมฆมันลอยมา เราก็รู้สึกฟ้ามันมืด วันนี้ฟ้ามันทึบ ฟ้าไม่ได้มืด ฟ้าไม่ได้ทึบ ฟ้าก็เป็นอย่างนั้นล่ะ แต่เมฆมันมาบัง จิตนี้ก็เหมือนกัน โดยตัวมันมันว่างอยู่แล้ว แต่เมฆหมอก คือความคิดนึกปรุงแต่ง เข้ามาบดบังญาณทัสสนะของเรา เลยเห็นผิดไป ความปรุงแต่งก็เลยปิดบังความว่างเอาไว หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 31 ธันวาคม 2566

Direct download: 661231.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ถ้าเราพยายามอดทนฝึกให้จิตเรามีสมาธิ ทำกรรมฐานไป รู้จักเลือกอารมณ์ที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุข อารมณ์นั้นไม่ยั่วให้เกิดกิเลส ทีแรกมันก็ฟุ้งซ่าน แล้วทำทุกวันๆ ต่อไปมันก็สงบลงมา เวลามันสงบมันก็ข่มนิวรณ์ได้ เวลาจิตไม่มีกำลังไม่สงบ ก็ถูกนิวรณ์เข้ามาข่มจิต ก็ยิ่งฟุ้งซ่านมากกว่าเก่าอีก เพราะฉะนั้นต้องอดทน ในช่วงแรกๆ ของการปฏิบัติ ตั้งใจรักษาศีลไว้แล้วก็อดทน เราจะต้องต่อสู้กับนิวรณ์ 5 ตัว นิวรณ์โดยตัวศัพท์ของมัน ก็หมายถึงสิ่งซึ่งคอยมาขัดขวาง การทำคุณงามความดีทั้งหลาย นั่นละเรียกว่านิวรณ์ เวลามีสิ่งมาขัดขวางคุณงามความดีในใจเรา ก็เรียกว่ามีนิวรณ์เกิดขึ้นแล้ว ทีแรกเราก็ยังมีนิวรณ์ทุกคน ก็ต้องอดทนภาวนาทำไปเรื่อยๆ มันคงไม่ชั่วตลอดชาติหรอก หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 30 ธันวาคม 2566

Direct download: 661230.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ตัววิปัสสนากรรมฐาน ไม่ใช่มีสติรู้กายรู้ใจอยู่เฉยๆ ต้องมีปัญญา มีสัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจ แล้วปัญญาคือความรู้ถูกความเข้าใจถูกจะเกิดขึ้น ว่าร่างกายจิตใจของเราไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้น ฉะนั้นเวลาเรามาวัด เราก็ดู เราเป็นบุคคลประเภทที่หนึ่ง มาแล้วมีความสุขเพลิดเพลิน หรือเป็นบุคคลประเภทที่สอง มาแล้วก็คอยรู้สึกอยู่ที่ร่างกาย คอยรู้สึกอยู่ที่จิตใจให้มันนิ่งๆ อยู่ หรือเป็นประเภทที่สาม มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในร่างกาย มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในจิตใจก็รู้ แล้วเราก็จะเห็นไตรลักษณ์ เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของร่างกายของจิตใจ มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้ได้ปัญญา ปัญญาชั้นสูงเลยเรียกว่าวิปัสสนาปัญญา เพราะฉะนั้นอย่างต่ำ อย่าใจลอย รู้สึกกายรู้สึกใจ ร่างกายนั่งอยู่รู้สึก คอยรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ เราก็จะเป็นคนแบบที่สอง อย่างน้อยจิตใจเราก็สงบสุขได้ ถ้าสูงกว่านั้นก็คือเห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ของร่างกายของจิตใจไป เราจะได้ปัญญา เราจะพ้นทุกข์ได้ก็เพราะปัญญา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 27 ธันวาคม 2566

Direct download: 661227.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

กรรมฐานที่ไม่มีโทษไม่มีภัยแล้วก็ไม่ยากเกินไป เรื่องของสมถกรรมฐาน คือเรื่องของอนุสติ อนุสติ 10 ข้อ จะทำพุทธานุสติ ก็ต้องคิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า ธัมมานุสติ ก็คิดถึงคุณของพระธรรม สังฆานุสติก็คิดถึงคุณของพระสงฆ์ เทวตานุสติ ก็คิดถึงธรรมะที่ทำให้คนเป็นเทวดา จาคานุสติ อย่างเราได้บริจาคทาน ถ้าทำทานก็ทำด้วยใจที่บริสุทธิ์ ทำด้วยเสียสละ ทำเพราะเห็นว่าสมควรจะทำ สีลานุสติ นึกถึงศีลที่เราตั้งใจรักษามาดีแล้ว มรณานุสติ คิดถึงความตายบ้าง คิดถึงความตายบ่อยๆ วันละหลายๆ รอบยิ่งดี กายคตาสติ พิจารณาลงในร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไล่ลงไปทีละส่วนๆ อีกตัวหนึ่งคืออานาปานสติ มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้าเรื่อยๆ ไป หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 24 ธันวาคม 2566

Direct download: 661224.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ตอนนี้คนจีนมาที่นี่เยอะมาก เขามาไกลจากเมืองจีน ถามว่ามาทำอะไร มาแสวงหาธรรมะ แล้วจะเจอไหม ไม่เจอหรอก ธรรมะไม่ได้อยู่เมืองไทย ธรรมะไม่ได้อยู่ที่วัดสวนสันติธรรม ธรรมะไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อ ถ้ามาแสวงหาธรรมะที่หลวงพ่อ ก็ยังแสวงหาออกนอกอยู่ อยากเข้าใจธรรมะจริงๆ ให้ค้นคว้าเข้าไปในกายในใจของตัวเอง อย่าให้เกินร่างกายออกไป เรียนรู้ลงไปเรื่อยๆ เรียนกรรมฐานไม่ใช่เรียนที่อื่น ไม่ใช่มารอรับธรรมะจากหลวงพ่อ ไม่ใช่รอมาวัด ธรรมะไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อ ธรรมะไม่ได้อยู่กระทั่งกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ท่านจะตรัสรู้หรือไม่ตรัสรู้ ธรรมะก็มีอยู่แล้ว ฉะนั้นธรรมะเป็นของประจำโลกอยู่แล้ว ไม่ได้อยู่ที่ใคร อยู่ที่เราจะต้องฝึกจิตใจตัวเองให้เห็นธรรมะ ไม่ใช่ทำให้ธรรมะเกิดขึ้นหรอก ฝึกจนกระทั่งเห็นความจริง สูงสุดนั้นก็คือตัวอริยสัจ 4 ตราบใดที่ไม่รู้อริยสัจ 4 เรายังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิดหรอก หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 23 ธันวาคม 2566

Direct download: 661223.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

อันแรกเลยศีล 5 ต้องรักษา ทุกวันต้องทำในรูปแบบ เลือกอารมณ์กรรมฐานมาสักอย่างหนึ่ง ที่เราถนัด ที่เราอยู่ด้วยแล้วเรามีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้นไปด้วยความมีสติ ไม่เพลิดเพลินในอารมณ์อันนั้น ไม่ไปเพ่งจ้องในอารมณ์อันนั้น ไม่หลงลืมอารมณ์นั้น อยู่กับมันด้วยความเป็นกลางสบายๆ จิตก็จะสงบ จิตได้พักผ่อน จิตจะมีแรงขึ้นมา แล้วการที่เราทำกรรมฐานแล้วเราคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองด้วย นอกจากจะสงบ เรายังจะได้สมาธิอีกชนิดหนึ่งแถมมาด้วย คือจิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติ พอตั้งมั่นแล้วก็มีแรงแล้วก็ต้องเดินปัญญา พวกเราเดินปัญญาในฌานได้ไม่กี่คนหรอก เราก็เดินปัญญาอยู่ข้างนอกนี้ล่ะ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง แล้วจิตเราเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ก็ให้รู้ เกิดกุศลก็ให้รู้ เกิดโลภก็ให้รู้ เกิดโกรธก็ให้รู้ เกิดหลงก็ให้รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ หดหู่ก็รู้ ตามรู้ตามเห็นไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปปัญญามันก็พอกพูนขึ้น ถึงจุดหนึ่งก็จะเข้าสู่สังขารุเปกขาญาณ มันรู้จริงแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ มันก็เลยเป็นกลาง ไม่หลงยินดีกับสุข ไม่หลงยินร้ายกับทุกข์ ไม่หลงยินดีกับกุศล ไม่หลงยินร้ายกับอกุศล ถ้าเดินปัญญาถึงจุดนี้ เราเข้ามาสู่ประตูของอริยมรรคอริยผลแล้ว ถ้าบุญบารมีเราสะสมมาเพียงพอ อริยมรรคอริยผลจะเกิดขึ้น ไม่มีใครสั่งจิตให้เกิดอริยมรรคอริยผลได้ จิตเกิดอริยมรรคอริยผลของจิตเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญานั้นสมบูรณ์แก่รอบแล้ว หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 17 ธันวาคม 2566

Direct download: 661217.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ทำกรรมฐานไป เลือกอารมณ์กรรมฐานที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ รู้อารมณ์กรรมฐานนั้นด้วยใจธรรมดาๆ ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็สงบ จิตได้พักผ่อน จิตได้พักผ่อนโรคบ้าที่ควรจะเป็น มันก็ไม่เป็นแล้ว ส่วนที่ภาวนาแล้วเป็นบ้าก็เพราะอะไร เพราะไปทำกรรมฐานแล้วก็ยิ่งบังคับจิตใจตัวเองให้มากขึ้นๆ จิตไม่สงบจะบังคับให้สงบอย่างนี้ เหมือนน้ำเชี่ยวไปขวางเรือ เอาเรือไปขวางน้ำ เรือก็ล่ม เราไม่ได้ทำแบบนั้นหรอก ที่ทำกรรมฐานแล้วเพี้ยน เพราะว่าทำแล้วเครียด ถ้าทำตามหลักที่หลวงพ่อบอก ไม่เครียด ไม่บ้า หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 16 ธันวาคม 2566

Direct download: 661216.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ทำไปตามลำดับ ถ้าทำข้ามขั้นทำไม่ได้หรอก เดี๋ยวจะตกเหวตายไปก่อน เหมือนเราจะหัดขึ้นภูเขา จะไต่เขา ยังไม่เคยขึ้นเขาเลย ไม่เคยปีนต้นไม้เลย อยู่ๆ ไปปีนภูเขา เดี๋ยวก็ตกลงมาตาย อย่างคนเขาจะขึ้นยอดเอเวอเรสต์ ก่อนจะขึ้นไปถึงยอดเอเวอเรสต์ เขาก็หัดขึ้นเขาเตี้ยๆ ก่อน แล้วก็ขึ้นไปถึงจุดที่พัก ก็ไปอยู่ตรงนั้นหลายๆ วันให้ร่างกายปรับตัวก่อน แล้วค่อยขึ้นไปอีก อยู่ๆ เดินรวดเดียวก็ไปตายกลางทาง การทำกรรมฐานเหมือนกัน ทำไปตามลำดับ รู้จักทาน ทานไม่ใช่จ่ายสตางค์อย่างเดียว อันนั้นแคบมากเลย คือการทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่เห็นแก่ตัว ที่ลดละความเห็นแก่ตัวนั่นล่ะ มีสติคุ้มครองรักษาจิต ศีล สมาธิ ปัญญาก็จะเกิดขึ้นเป็นลำดับไป ในที่สุดเมื่อศีล สมาธิ ปัญญาบริบูรณ์แล้ว มรรคผลจะเกิดขึ้นเอง หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 7 ธันวาคม 2566

Direct download: 661207.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

อันแรกเราเห็นตัวสภาวะ เช่น ความโกรธเกิดขึ้น ความโลภเกิดขึ้น ความหลงเกิดขึ้น ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่เกิดขึ้น ความสุขความทุกข์เกิดขึ้น นี้เป็นสภาวธรรม แต่พอเราดูไปชำนิชำนาญ เราจะเห็นว่าสภาวธรรมทุกตัวเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ความสุขที่พวกเรามีอยู่ ในชีวิตเราความสุขผ่านมาตั้งเยอะแยะ แล้วดับทั้งสิ้น ความทุกข์ในชีวิตของเรามากมาย แต่ความทุกข์ทุกชนิดเกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น กุศล อกุศล ทั้งหลาย โลภ โกรธ หลง เราก็โกรธวันหนึ่งหลายครั้ง แต่ว่ามันก็อยู่ชั่วคราวแล้วมันก็ดับ เห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตัวไหนเกิดก็รู้ไป แล้วก็เห็นมันดับไป ถึงจุดหนึ่งปัญญามันแก่กล้า มันสรุปได้ด้วยตัวของมันเอง ว่าทุกสิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 5 ธันวาคม 2566

Direct download: 661205.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เราเป็นทีมงานของหลวงพ่อ จุดสำคัญที่หนึ่งเลย ตัวเองต้องพัฒนาได้ จุดที่สอง อย่าให้กระทบการทำมาหากินของตัวเอง เป็นฆราวาสต้องทำมาหากินด้วย ไม่ใช่จะมาทำงานอาสาสมัครจนกระทั่งไม่มีจะกิน อีกจุดหนึ่ง ครอบครัวสำคัญ มีลูกมีครอบครัวต้องดูแล ไม่ใช่ทิ้งครอบครัวทิ้งลูกตามยถากรรม มาทำงานอาสาสมัครช่วยหลวงพ่อ หลวงพ่อไม่ต้องการ คือพวกเราทำงานอาสาสมัคร อย่าให้การปฏิบัติเสีย อันนี้ข้อที่หนึ่งเลย จำเป็นที่สุดเลย อย่าให้หน้าที่การงานเสีย อย่าให้ครอบครัวเสีย หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 4 ธันวาคม 2566

Direct download: 661204.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

คุณแม่ชีน้อยอยู่หินหมากเป้ง ท่านก็เคยพูดเรื่อยๆ บอก “คนหลายคนกินน้ำบ่อเดียวกัน เดินทางเดียวไม่เหยียบรอยกัน” น้ำบ่อเดียวกันหมายถึงพระนิพพาน คนที่ปฏิบัติมุ่งไปที่เดียวกัน ไปพระนิพพาน เดินทางเดียวกันคือทางของเอกายนมรรค ทางของสติปัฏฐานนี่ล่ะ แต่ไม่เหยียบรอยกัน หมายถึงวิธีการปฏิบัติ ในรายละเอียดแตกต่างกัน ถนัดรู้กาย ใช้กายเป็นหลัก ถนัดรู้เวทนา ใช้เวทนาเป็นหลัก ถนัดรู้จิต ใช้จิตเป็นหลัก ถนัดรู้ธัมมานุปัสสนา ก็ใช้ธัมมานุปัสสนาเป็นหลัก ซึ่งตัวนี้ไม่ค่อยมีหรอก ยากมาก แต่ไม่ว่าจะเจริญกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา สุดท้ายทุกคนจะมาลงที่ธัมมานุปัสสนาเหมือนกันหมด ลงมาตัดที่จิตนั่นเอง ก็รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ แทงตลอดปฏิจจสมุปบาทที่จิตนั่นเอง เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องเริ่มต้นในสิ่งที่เราทำไม่ได้ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 3 ธันวาคม 2566

Direct download: 661203.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ถ้าจิตใจเราจดจ่ออยู่กับงาน ซึ่งเป็นงานที่ดีมีคุณประโยชน์ สมาธิจะเกิด หลวงพ่อพุธท่านเคยบอก งานทางโลก ถ้าเป็นงานที่ดี ไม่ผิดศีลผิดธรรม ทำไปจิตใจจดจ่ออยู่กับงาน การที่จิตจดจ่ออยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ได้คือสมาธิ จิตใจสงบ แล้วยิ่งถ้าเคยฝึกรู้ทันจิตที่หลง จะสงบ แล้วก็จะตั้งมั่นขึ้นมาอัตโนมัติ ฉะนั้นการใช้ชีวิตธรรมดา ใช้ชีวิตให้ถูก แล้วจะภาวนาง่าย หลวงพ่อเคยบอกบ่อยๆ ว่า การทำหน้าที่ของเราในทางโลกที่ถูกต้อง ไม่ขัดไม่ขวางการปฏิบัติธรรม เราเป็นครู เราก็ทำหน้าที่ของครูให้ดี เราก็ปฏิบัติธรรมได้ ท่านพุทธทาสท่านก็พูดเอาง่ายๆ ว่า “การปฏิบัติงาน การทำหน้าที่นั่นล่ะ คือการปฏิบัติธรรม” แต่ต้องทำให้เป็น ถ้าทำหน้าที่งานที่เป็นอกุศลนี้ไม่ใช่ ทำแล้วจิตใจยิ่งแย่ลง ถ้างานเป็นงานที่ดี อย่างเราเป็นหมอ เรารักษาคนไข้ ถ้ารักษาไปแล้วโมโหไป อันนี้ไม่ใช่แล้ว จิตเป็นอกุศล ถ้าจิตใจเรามีความกรุณา สงสารคนไข้เจ็บป่วย แต่แนะนำอย่างไรก็ไม่ยอมเชื่อ บอกว่าอย่ากินเหล้าก็ยังจะกินอีก อย่าสูบบุหรี่ก็ยังจะสูบอีก แนะแล้วไม่เชื่อเราโมโห ทีแรกกรุณา ตรงโมโหนี้เป็นโทสะ พลิกไปพลิกมา ฉะนั้นเวลาที่เราจะทำหน้าที่ของเรา สังเกตจิตใจของเราไปสักนิดหนึ่ง ที่ทำอยู่นี้ทำเพราะกุศล หรือเพราะอกุศล ฉะนั้นจะทำสมาธิ เมื่อเช้าก็มีทิดเก่าคนหนึ่ง ทำสมาธิอย่างไรก็ทำไม่ได้ ฟุ้งตลอดเลย บอกว่าตอนทำ ทำด้วยความอยากสงบ ไม่สงบหรอก ทันทีที่ความอยากเกิดขึ้น จิตมันก็เกิดความดิ้นรน เมื่อจิตมันดิ้นรน มันจะสงบได้อย่างไร มันหยุดไม่เป็น ฉะนั้นอย่างเราทำสมาธิไป จิตฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน ไม่ต้องอยากสงบ ถ้ายิ่งอยากสงบจะยิ่งฟุ้งซ่าน ถือว่าเรากำลังทำหน้าที่ ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้าอยู่ ทำกรรมฐานไป เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ถือว่าเรากำลังทำหน้าที่ กำลังปฏิบัติบูชาอยู่ ผลจะเป็นอย่างไรไม่ต้องห่วง จะสงบก็ได้ ไม่สงบก็ได้ ขอให้ได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ดีเท่านั้นล่ะ ถ้ารู้จักวางใจอย่างนี้ จิตจะสงบอย่างรวดเร็วเลย เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่ จะทั้งหน้าที่ทางโลกหรือหน้าที่ทางกรรมฐาน ทำไปด้วยจิตใจที่เป็นกุศลไว้แล้วจะพัฒนาง่าย อย่างนั่งสมาธิไปแล้วก็หงุดหงิดไป เมื่อไรจะสงบ อันนั้นจิตเป็นอกุศล ไม่มีทางที่จิตจะดีขึ้นมาได้ สงบไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นท่านพุทธทาสท่านถึงบอก การทำหน้าที่ก็คือการปฏิบัติธรรม หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 2 ธันวาคม 2566

Direct download: 661202.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

จุดตั้งต้นของการปฏิบัติต้องรู้สึกตัวให้ได้ก่อน ถ้าไม่รู้สึกตัวปฏิบัติไม่ได้จริง ได้อย่างมากก็ได้สมาธิชนิดสงบอยู่เฉยๆ เผลอๆ เพลินๆ ความรู้สึกตัวเป็นธรรมะสำคัญ ขนาดพระพุทธเจ้าท่านบอก ท่านไม่เห็นธรรมะอะไรสำคัญเท่าความรู้สึกตัวเลยในการที่จะเอาชนะกิเลส มันประหลาด เราทุกคนรักตัวเองที่สุด แต่เราลืมตัวเองบ่อยที่สุด เราสนใจคนอื่น สนใจสิ่งอื่น ตลอดเวลา ไม่ได้สนใจตัวเอง ทั้งๆ ที่รักที่สุด พอเราไม่สนใจตัวเอง จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่มีความรู้สึกตัว เราก็ไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองได้ ถ้าไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองได้ โอกาสที่จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายในใจก็ไม่มี ปล่อยไม่ได้ก็ไม่พ้นทุกข์ เพราะกายกับใจนั้นคือตัวทุกข์ จุดตั้งต้นของการปฏิบัติ เริ่มมาตั้งแต่การฝึกให้รู้สึกตัว พอรู้สึกตัวแล้วก็แยกธาตุแยกขันธ์ แยกธาตุแยกขันธ์ได้ ก็เห็นแต่ละธาตุแต่ละขันธ์ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สุดท้ายจิตมันก็มีปัญญาแก่รอบ มันก็วางความยึดมั่นถือมั่นในธาตุขันธ์ไป หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 26 พฤศจิกายน 2566

Direct download: 661126.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ขณะที่ตาเห็นรูป จิตเกิดความเปลี่ยนแปลง รู้ทัน หูได้ยินเสียง จิตเกิดความเปลี่ยนแปลง รู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส จิตเกิดความเปลี่ยนแปลงให้รู้ทัน ความรู้สึกมันเปลี่ยนจากการกระทบอารมณ์ แล้วมีการให้ค่า กระทบเฉยๆ ยังไม่เท่าไร กระทบแล้วมันมีการให้ค่า เป็นธรรมชาติก็ต้องมีการตีความ อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี แล้วจิตก็จะปรุงต่อ เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตมันจะเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงตามหลังการกระทบอารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นอารมณ์ข้างนอก กระทบแล้วจิตมีความเปลี่ยนแปลง ตีค่า แล้วก็เกิดยินดียินร้าย เกิดพอใจไม่พอใจขึ้นมา แต่ว่าการกระทบอารมณ์มันมีอีกแบบหนึ่ง คือกระทบด้วยใจโดยตรง ไม่ได้กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่กระทบด้วยจิตโดยตรงก็มี อย่างเวลาเรานั่งอยู่ดีๆ เราไปนึกถึงคนที่เราเกลียด พอนึกถึงปุ๊บโทสะขึ้นเลย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วจิตเปลี่ยนแปลง เราก็รู้ทัน มีการกระทบทางใจขึ้นโดยตรง ไม่ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตก็เกิดการความเปลี่ยนแปลง ให้เรามีสติรู้ทัน ใจปรุงต่อ ให้เราตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเองไป หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 25 พฤศจิกายน 2566

Direct download: 661125.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ยากสำหรับคนซึ่งอ่านจิตตัวเองไม่ออก ไม่ยากสำหรับคนที่อ่านจิตตัวเองได้ เราจะอ่านจิตตัวเองออก เราก็ต้องฝึกซ้อม อยู่ดีๆ มันอ่านไม่ออกหรอก เพราะธรรมชาติของจิตส่งออกนอกตลอด มันสนใจสิ่งอื่น สนใจคนอื่น สนใจสัตว์อื่น สนใจสิ่งอื่น มันไม่สนใจตัวเอง ฉะนั้นหลวงปู่ดูลย์ท่านถึงบอกว่า “ธรรมชาติของจิตย่อมส่งออกนอก” พอส่งออกนอกก็กระเพื่อมหวั่นไหว พอจิตส่งออกนอกแล้วกระเพื่อมหวั่นไหว ก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เพราะฉะนั้นเราภาวนา ค่อยๆ ฝึกตัวเอง ก่อนที่เราจะปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ต้องซ้อมไว้ก่อน การซ้อมก็คือการปฏิบัติในรูปแบบ แล้วต้องมีวินัยในตัวเอง ถ้าเราไม่มีวินัยในตัวเอง เราก็จะอ้าง มีข้ออ้างมากมายที่จะไม่ปฏิบัติ ทีเรื่องอื่นขาดไม่ได้ แต่เรื่องปฏิบัตินี้ขาดได้ เว้นได้ ใจมันไม่เด็ดพอ ใจแบบนี้โอกาสได้มรรคผล ยาก ต้องใจเด็ดจริงๆ ใจเข้มแข็งจริงๆ ฉะนั้นถ้าเราอยากได้ดิบได้ดีในทางธรรมะในชีวิตนี้ เราไม่พูดถึงว่าจะสะสมบารมี อีกหลายภพหลายชาติแล้วจะได้ธรรมะ เสียเวลา ธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมะที่ไม่เนิ่นช้า ไม่มีข้ออ้าง จะต้องทำอีกนานๆ ถึงจะได้ เดินให้ถูก แล้วขยันเดินก็ถึงที่หมายเร็ว สิ่งที่เราจะต้องฝึกตัวเองก็มี 3 อย่าง เราจะต้องฝึกเรื่องศีลสิกขา ต้องเรียนรู้ว่าทำอย่างไร ศีลจะสมบูรณ์ จิตตสิกขาจะเรียนรู้ว่าทำอย่างไร เราจะได้สัมมาสมาธิอย่างสมบูรณ์ ปัญญาสิกขา เราเรียนรู้ว่าทำอย่างไร จิตจะเข้าใจความเป็นจริงของรูปนาม ของชีวิตจิตใจ หรือของโลกทั้งโลก ถ้าเข้าใจจิตใจตัวเองอย่างเดียว ก็เข้าใจรูปนามกายใจ เข้าใจจิตใจอย่างเดียว จะเข้าใจโลกทั้งโลกได้ อันนั้นเป็นเรื่องของการเจริญปัญญา เรียนรู้ความจริง ฉะนั้นถ้าเราดำเนินไปตามลำดับ การปฏิบัติจะไม่ยาก หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 18 พฤศจิกายน 2566

Direct download: 661118.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เราภาวนา เรียนรู้ความจริงของจิตใจตัวเองไปเลย ใจเราสุขขึ้นมารู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันก็จะเกิดรักเกิดโลภ ใจเราทุกข์ขึ้นมารู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันจะเกิดโกรธ คอยรู้ทันไปเรื่อยๆ สุดท้ายเราจะเห็น ปัญญามันจะเกิด เราจะเห็นว่าทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในใจเรา เกิดแล้วดับทั้งสิ้น ดูให้เห็นอย่างนี้ ใจจะหมดความยึดถือในความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ฉะนั้นคอยอ่านจิตอ่านใจตัวเอง ใจโลภขึ้นมาก็รู้ ใจไม่โลภแล้วก็รู้ ใจโกรธเราก็รู้ ใจไม่โกรธก็รู้ ใจหลงไปก็รู้ ฟุ้งซ่านใจหดหู่ รู้ทันไปเรื่อยๆ จนเห็นว่าทุกอย่างคือความปรุงแต่งทุกอย่าง เกิดแล้วดับหมด ปรุงดีเกิดแล้วก็ดับ ปรุงชั่วเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ต้องพยายามไม่ปรุง จิตมันไม่ปรุงเอง ถ้าพยายามไม่ปรุงก็คือความปรุงแต่ง ใช้ไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องพยายามไม่ปรุงแต่ง ให้เห็นความปรุงแต่งทุกอย่างเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ถึงจุดหนึ่งจิตมันวางความปรุงแต่ง ก็เข้าถึงสุญญตา เข้าถึงพระนิพพาน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 20 พฤศจิกายน 2566

Direct download: 661120.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

มีสติรักษาจิตไว้ กิเลสอะไรเกิดกับจิตใจรู้ไว้ แล้วเราจะได้ทั้งศีล ได้ทั้งสมาธิ ได้ทั้งปัญญา ถ้าศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์แล้ว ไม่ต้องห่วง อย่างไรวิมุตติคืออริยมรรคอริยผลต้องเกิด ถ้าศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์แล้ว อริยมรรคอริยผลก็จะเกิดขึ้น ฉะนั้นเรามีสติคุ้มครองรักษาจิตตนเองไปเรื่อยๆ คุ้มครองไม่ใช่ไปเฝ้าไม่ให้จิตกระดุกกระดิก มีสติคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองนั่นล่ะ คอยอ่านจิตตัวเองนั่นล่ะ แล้วสติจะเป็นผู้รักษาจิตเอง เราไม่ต้องรักษาจิต รักษาอย่างไรก็ไม่ได้ สติจะทำหน้าที่อารักขา อารักขาคือมันทำหน้าที่คุ้มครองจิตใจไม่ให้ตกไปสู่ที่ชั่ว เพราะฉะนั้นเรามีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อย จิตก็ได้รับความคุ้มครองได้รับการดูแล ไม่ทำผิดศีล ไม่ฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความตั้งมั่น แล้วการที่เรามีสติ ถ้าจิตเราตั้งมั่น แล้วสติระลึกรู้อะไรก็ตาม อันนั้นจะแสดงไตรลักษณ์ได้ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 12 พฤศจิกายน 2566

Direct download: 661112.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

การที่เราจะมาฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเอง เราจะได้ทั้งสัมมาสติ ได้ทั้งสัมมาสมาธิ คราวนี้พอเรามีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ จิตจะตั้งมั่นเด่นดวง เห็นสภาวะ สักว่ารู้ว่าเห็น แต่แค่นี้ยังไม่พอ บางทีมันก็ไปเห็นทุกอย่างว่างหมดเลย แล้วจิตก็ติดอยู่ในว่าง ต้องมีการหมายรู้ที่ถูกด้วย ต้องมีสัญญาที่ถูกต้องด้วย ปัญญาที่แท้จริงถึงจะเกิดขึ้น ถ้าจิตไม่มีสัญญา จิตเดินปัญญาไม่ได้จริง ฉะนั้นเราจะต้องฝึก ให้เราได้องค์ธรรมเหล่านี้ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 11 พฤศจิกายน 2566

Direct download: 661111.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

1 « Previous 4 5 6 7 8 9 10 Next » 72