ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็กระทบอารมณ์ไปตามธรรมดา แต่กระทบแล้วเกิดความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลง ให้มีสติรู้ หัวใจหรือเคล็ดลับของการเจริญสติในชีวิตประจำวันอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่อ่านใจตัวเองไป ไม่ได้อยู่ตรงที่บังคับตัวเอง ไม่ให้ดูรูป ไม่ให้ฟังเสียง ไม่ให้ได้กลิ่น ไม่ให้ได้รส ไม่ต้องหนี กระทบอารมณ์ไปตามธรรมชาติ แต่กระทบแล้วใจเรามีความเปลี่ยนแปลง เกิดสุขให้รู้เกิดทุกข์ให้รู้ เกิดกุศลอกุศลให้รู้ไป ไม่นานปัญญาจะเกิด ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเรา เกิดแล้วดับทั้งสิ้น หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 10 มีนาคม 2568

Direct download: 680310.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

สติเองก็เป็นอนัตตา สั่งให้เกิดไม่ได้ สติมีการที่จิตเราจำสภาวะได้แม่นเป็นเหตุใกล้ให้เกิด ฉะนั้นเราจะต้องมาหัดรู้สภาวะ สภาวะมีรูปธรรมมีนามธรรม สภาวะก็คือสิ่งที่ประกอบกันขึ้น เป็นร่างกายจิตใจของเรานี้เอง พยายามเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ให้มาก รู้สึกให้มาก หัดรู้ให้เห็นถึงตัวสภาวะให้ได้ แล้วสติตัวจริงถึงจะเกิด สติตัวจริงเกิดเมื่อไร สัมมาสมาธิ สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิดร่วมด้วยเสมอ เพราะฉะนั้นจับหลักให้แม่น หัดดูสภาวะไป ถนัดดูรูปธรรมก็ดูไป ถนัดดูนามธรรมก็ดูไป หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 1 มีนาคม 2568

Direct download: 680301.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

รู้สึกตัว เรียนรู้ความจริงของร่างกายไป ร่างกายนี้ไม่เที่ยง รู้สึกลงไปในร่างกาย เห็นแต่ความไม่เที่ยงของร่างกาย หรือบางคนก็เห็นลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ร่างกายนี้ทำไมต้องหายใจออกหายใจเข้า ทำไมต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ทำไมต้องเคลื่อนไหว ต้องหยุดนิ่ง เพราะร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา หายใจออกเรื่อยๆ ก็ทุกข์ หายใจเข้าเรื่อยๆ ก็ทุกข์ นั่งนานๆ ก็ทุกข์ เดินนานๆ ก็ทุกข์ ยืนนานๆ ก็ทุกข์ นอนนานๆ ก็ทุกข์ ร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา บางทีก็ต้องเคลื่อนไหว นั่งๆ อยู่แล้วมันคัน ก็ต้องไปเกา ทำไมต้องเกา เกาแก้ทุกข์ แก้คัน บางทีนั่งอยู่ แข้งขาปวด เราก็ไปขยำๆ นวดขาอะไร ทำไมต้องเคลื่อนไหว ก็เพราะว่ามันทุกข์ เราเคลื่อนไหวเพื่อจะแก้ทุกข์ ดูในร่างกาย เห็นไม่เที่ยง เห็นเป็นทุกข์ ดูลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง มันเป็นอนัตตา มันไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา มันเป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมมาประชุมกันด้วยกำลังของกรรม มารวมตัวกันขึ้นมาเป็นรูปร่างอย่างนี้ แล้วก็มีจิตมีวิญญาณครอบครอง ก็มีชีวิตขึ้นมา เรามีสติเรียนรู้ร่างกายไปเรื่อยๆ เห็นร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นแค่วัตถุธาตุที่เรายืมของโลกมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว แล้ววันหนึ่งเราก็ต้องคืนทุกสิ่งทุกอย่างให้โลก สิ่งที่เป็นร่างกายของเราวันนี้ วันข้างหน้าอาจจะไปเป็นร่างกายของหนอน เป็นร่างกายของต้นไม้ ต้นไม้ก็กินเราเข้าไปเป็นสารอาหาร หรือไปเป็นถนนให้คนเดิน กลายเป็นดินเป็นอะไรไป บางทีก็ไปอยู่ในน้ำทะเล อยู่ในแม่น้ำกระจัดกระจายไป ลมหายใจที่เราหายใจ คนอื่นมันก็เอามาหายใจมาก่อนเราแล้ว เราก็แค่ยืมลมหายใจเอามาใช้ ลมที่เราหายใจเข้าไป เราไม่รู้เลยคนอื่นหายใจมาก่อนหรือเปล่า หมามันหายใจมาก่อนหรือเปล่า ลมอันนี้ ธาตุมันหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ เห็นแล้วก็ควรสลดสังเวช ไม่น่ายึดถืออะไร ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไร ยืมเขามาใช้ ไม่ใช่ของสะอาดหมดจดด้วย ถึงวันหนึ่งก็ต้องคืนเจ้าของ คืนให้โลกไป หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 23 กุมภาพันธ์ 2568

Direct download: 680223.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

พวกเราชาวพุทธทั้งหลายฝึกเดินในเส้นทางที่พระพุทธเจ้าสอน รู้ทุกข์คือรู้กายรู้ใจของตัวเอง อย่าละเลย รู้เรื่อยๆ จนวันหนึ่งเห็นความจริง ร่างกายจิตใจของเราเป็นแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตมันจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ พอมันไม่ยึดถือมันหลุดพ้น ต่อไปร่างกายจะแก่จิตไม่สะเทือนเลย ร่างกายจะเจ็บจิตไม่หวั่นไหว ร่างกายจะตายจิตบางทีเบิกบานด้วยซ้ำไป ตัวทุกข์มันจะแตกแล้ว จิตที่ฝึกอบรมดีแล้วนำความสุขมาให้เรา แล้วการจะฝึกอบรมให้ดีก็คือการรู้ทุกข์นั่นล่ะ ดีที่สุดเลย หัดรู้สภาวะเรื่อยๆ แล้วสัมมาสติก็เกิด สัมมาสติเกิดเมื่อไร สัมมาสมาธิก็เกิด มีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะคือการเจริญปัญญาก็จะเกิด ไม่ได้คิดเอา แต่ต้องเห็นสภาวะเอา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดเขาบางทราย พระอารามหลวง 22 กุมภาพันธ์ 2568 (ช่วงเย็น)

Direct download: 680222B.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ขั้นแรกฝึกให้จิตใจอยู่กับตัวเองก่อน หายใจออกรู้สึกตัว หายใจเข้ารู้สึกตัว ถ้าต้องการให้จิตพักผ่อนก็สงบลงไปอยู่ที่ลมหายใจ หรือที่อารมณ์กรรมฐาน ถ้าพักผ่อนพอแล้วก็จะอัปเกรดขึ้นมา จิตเราเคลื่อนไหวไปมา เรามีสติรู้ จิตหลงไปคิดก็รู้ หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปดม หลงไปรู้สัมผัสทางกายอะไรก็รู้ รู้ทันจิตไป หรือจิตไหลไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานก็รู้ ตรงนี้ตรงที่เรารู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมา จิตที่ไหลไปไหลมา เป็นจิตที่มีโมหะ มีความฟุ้งซ่านเรียกว่าอุทธัจจะ แล้วทันทีที่เราเห็นจิตไหลไปไหลมา จิตที่ไหลไปไหลมามันดับอัตโนมัติ มันจะเกิดจิตตั้งมั่นอัตโนมัติขึ้นมา พอจิตมันตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว คราวนี้มันเดินปัญญาได้จริงแล้ว พอจิตเราตั้งมั่น เวลาสติรู้ร่างกายนี้ เราจะรู้เลยว่าร่างกายมันของถูกรู้ถูกดู ร่างกายไม่ใช่เรา สติระลึกรู้เวทนา เวทนาถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่เรา สติรู้สังขาร ความปรุงดีชั่วทั้งหลาย ก็เห็นความปรุงแต่งทั้งหลาย โลภ โกรธ หลงอะไร ไม่ใช่เรา เป็นสภาวะอันหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วต่อมาก็เรียน มันก็จะประณีตขึ้นเรื่อยๆ เข้ามาถึงจิตถึงใจตัวเอง เห็นจิตเกิดทางตาแล้วก็ดับ เกิดทางหูแล้วก็ดับ เกิดทางใจแล้วก็ดับ จิตรู้เกิดแล้วก็ดับ จิตคิดเกิดแล้วก็ดับ จิตเพ่งเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับหมดเลย หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 22 กุมภาพันธ์ 2568

Direct download: 680222A.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

หัดรู้สภาวะไปเรื่อยๆ เริ่มต้นเรารู้คู่ใดคู่หนึ่งก็พอแล้ว เช่น จิตโกรธกับจิตไม่โกรธ จิตโลภกับจิตไม่โลภ ตอนนี้อยาก ตอนนี้เฉยๆ อย่างนี้ หัดดูสิ่งที่เป็นคู่ๆ ตอนนี้สุข ตอนนี้ทุกข์ ตอนนี้สุข ตอนนี้เฉยๆ อันนี้ก็เป็นเซ็ตหนึ่งมี 3 ตัว สุข ทุกข์ เฉยๆ หัดเรียนกรรมฐานเรียนเซ็ตเดียวพอ คู่เดียวพอแล้ว อย่างเห็นจิตโกรธกับจิตไม่โกรธ ทั้งวันก็มีแต่จิตโกรธกับจิตไม่โกรธ ถ้าเราดูตัวอยากทั้งวัน ก็มีแค่ตอนนี้อยากตอนนี้ไม่ได้อยาก ก็มีแค่นี้เอง หัดดูอย่างนี้เรื่อยๆ แล้วเราจะเห็นว่าจิตเราเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา เดี๋ยวเหวี่ยงซ้าย เดี๋ยวเหวี่ยงขวา เดี๋ยวอยาก เดี๋ยวไม่อยาก เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวไม่โกรธ ตรงที่มันเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา มันกำลังสอนไตรลักษณ์เรา จิตอยากก็ไม่คงที่ จิตไม่อยากก็ไม่คงที่ เห็นไหมจิตโกรธก็ไม่คงที่ จิตไม่โกรธก็ไม่คงที่ ฉะนั้นเวลาเรียนธรรมะ เรียนเป็นคู่ คู่เดียวก็พอแล้ว ไม่ต้องเรียนเยอะหรอก หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช บ้านจิตสบาย 16 กุมภาพันธ์ 2568

Direct download: 680216.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ถ้าเราจะใช้อานาปานสติทำวิปัสสนาทำอย่างไร เราก็ใช้เน้นที่ความรู้สึกตัว แทนที่จะน้อมจิต ให้มันไปแนบอยู่ที่ตัวอารมณ์ ค่อยๆ สังเกตไป อย่างเวลาเราหายใจ ร่างกายหายใจ ใจเป็นคนดู ร่างกายหายใจ ใจเป็นคนดู ค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ แล้วพอจิตมันหลง หนีไปคิดเรื่องอื่น ก็ให้รู้ทันว่าจิตหลงไปแล้ว ไม่ว่ามัน จิตหลงไปแล้ว โยนมันทิ้งไป ไม่ต้องไปดึงคืน อย่าไปหวง จิตที่หลงเป็นอกุศล อย่าไปหวงมัน โยนมันทิ้งไป กลับมาทำความรู้สึกใหม่ มาหายใจใหม่ หายใจไป หายใจไป แล้วเห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนดู ฝึกอย่างนี้ มันจะมีจิตใจที่เป็นคนดู กับมีร่างกายที่หายใจ มันจะเป็น 2 อัน ถ้ามันแยก 2 อันได้ พอสติระลึกรู้ร่างกาย แต่จิตเป็นคนดูอยู่นี้ ปัญญามันจะเกิด จะเกิดวิปัสสนาปัญญา จะเห็นร่างกายไม่ใช่จิต ร่างกายเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ร่างกายไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ มีธาตุหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ไหลเข้าไหลออกไปเรื่อยๆ จิตเป็นแค่ผู้รู้ผู้เห็น หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 15 กุมภาพันธ์ 2568

Direct download: 680215.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 4:00pm +07

จุดสำคัญอยู่ที่การพยายามพัฒนากุศลของเราให้เจริญขึ้น พยายามลดละอกุศลไป วิธีที่กุศลจะเจริญได้ดี คืออ่านใจตัวเองให้ออก ถ้าอ่านใจตัวเองออก กุศลจะเจริญอย่างรวดเร็วเลย อย่างเราเห็นใจเรามีโทสะ พอเรารู้ทันโทสะ โทสะดับเลย เราก็ไม่ผิดศีล ไม่ไปตีใคร ไม่ไปเผาบ้านเผาอะไรเขา ไม่เป็น เพราะจิตไม่ได้มีความคิดประทุษร้าย เห็นไหมถ้าเรามีสติอ่านจิตตัวเองออก การถือศีลจะไม่ใช่เรื่องยาก การทำสมาธิก็ไม่ใช่เรื่องยาก เราจะทำสมาธิ ถ้าเราทำด้วยความโลภ เราอ่านใจตัวเองไม่ออก ว่านั่งอยู่นี่อยากสงบ บางคนยิ่งกว่าอยากสงบ อยากรู้ อยากเห็น อยากโน้นอยากนี้ เราทำสมาธิก็มีสติรู้ทันใจเรา สมาธิของเรานี้เจือความโลภหรือเปล่า หรือตอนที่ทำนี้เจือโทสะไหม ไม่ยอมสงบเสียทีก็โมโห อ่านจิตตัวเองให้ออก แล้วจิตเราเป็นกลาง ทำสมาธิแป๊บเดียวก็สงบแล้ว เจริญปัญญา ถ้าไม่มีสติ ก็ไม่ต้องพูดเรื่องเจริญปัญญา การเจริญปัญญาได้ อาศัยสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม พอสติระลึกรู้ จิตอย่าจมลงไป จิตต้องตั้งมั่นเป็นแค่คนเห็นสภาวะ พอจิตเราตั้งมั่น แล้วสติระลึกลงไปที่ร่างกาย สติระลึกรู้เวทนา สติระลึกรู้เห็นกุศลอกุศล มันก็จะเห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตเราตั้งมั่นอยู่ เรารู้ทันจิตที่เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เห็นไตรลักษณ์เหมือนกัน ฉะนั้นสติสำคัญ แล้วศีลจะดีก็ต้องมีสติ สมาธิจะดีก็ต้องมีสติ เจริญปัญญาก็ต้องมีสติ ขาดสติตัวเดียว ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ต้องพูดถึงแล้ว กระพร่องกระแพร่ง หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 12 กุมภาพันธ์ 2568 (ช่วงบ่าย)

Direct download: 680212B.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ในสติปัฏฐาน 4 ไม่ว่าเราจะทำหมวดใดหมวดหนึ่ง จะทำกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้ง 4 ฐานนี้ มันรู้ทั้งกาย รู้ทั้งจิต เพราะฉะนั้นทำเพียงฐานใดฐานหนึ่ง สามารถทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เริ่มต้นทำจากฐานใดก็ได้ แล้วถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ทุกฐาน ทั้ง 4 ฐานนี้ ไม่ใช่ว่าต้องทำทีละฐานให้ครบ 4 ฐาน แต่บางท่านทำ 4 ฐานเลย แล้วแต่จริตนิสัย ถ้าเราไม่ได้แกร่งกล้าขนาดนั้น ฐานเดียวทำให้จริงก็จบได้เหมือนกัน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 12 กุมภาพันธ์ 2568 (ช่วงเช้า)

Direct download: 680212A.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

โยนิโสมนสิการ พวกเราทิ้งไม่ได้ โดยเฉพาะในยุคนี้คนพูดธรรมะ คนเผยแพร่ธรรมะเยอะแยะไปหมดเลย แต่ละแห่งแต่ละที่ก็พูดถึงธรรมะอันเดียวกันทั้งนั้น แต่ถ้าเรามีโยนิโสมนสิการ เราจะรู้ว่ามันไม่เหมือนกันหรอก บางคนพูดเหมือนกัน บอกให้มีสติรู้กายรู้ใจ ปรากฏว่าแทนที่จะมีสติรู้กายรู้ใจ กลับไปเพ่งกายเพ่งใจ เกือบร้อยละร้อยของคนปฏิบัติคือพวกนักเพ่ง ไม่ใช่พวกที่จะรู้กายรู้ใจด้วยสติจริง แต่มันเป็นสติที่เจือด้วยโลภะ เป็นการบังคับตัวเอง ทำอัตตกิลมถานุโยค ไม่ได้เดินในทางสายกลาง ฉะนั้นถ้าเรามีโยนิโสมนสิการเราต้องสังเกตตัวเอง อย่างน้อยเราก็ต้องสังเกตได้ว่าที่เราปฏิบัติมา อกุศลที่มีอยู่ลดละลงไปไหม อกุศลใหม่ เกิดยากขึ้นหรือเปล่า กุศลเกิดขึ้นบ่อยไหม อย่างสติเกิดบ่อยไหม ความเข้าใจคือปัญญา ความรู้ถูกเข้าใจถูกในสภาวะต่างๆ มีมากขึ้นไหม กุศลเกิดขึ้นหรือเปล่า กุศลที่เกิดแล้วพัฒนาขึ้นหรือเปล่า เพราะฉะนั้นโยนิโสมนสิการเป็นเรื่องสำคัญมากเลย ยิ่งในยุคนี้เราไม่รู้ว่าท่านผู้ใดคือกัลยาณมิตร ต้องใช้คำนี้เลย เราไม่รู้หรอกว่าท่านใดเป็นกัลยาณมิตร เพราะว่ายุคนี้พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ไม่มีใครออกใบเซอร์ได้ว่าคนที่ผ่านแล้ว คนนี้เป็นพระอริยะชั้นนั้นชั้นนี้ เชื่อถือได้อะไรอย่างนี้ เชื่อไม่ได้ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 9 กุมภาพันธ์ 2568

Direct download: 680209.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

นั่งสมาธิได้ครั้งละหลายๆ ชั่วโมง แต่ไม่มีสติรู้กายรู้ใจของตัวเอง นั่งแล้วเคลิ้มๆ ก็นั่งทรมานตัวเองเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์อะไร หรือเดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำ แต่ไม่มีสติรู้กายรู้ใจ ก็เดินเหนื่อยเปล่า เพราะฉะนั้นตรงอัตตกิลมถานุโยค ทรมานตัวเอง ไม่ได้นับที่เวลาหรอก แต่นับที่มีสติในการปฏิบัติหรือเปล่า ถ้าขาดสติในการปฏิบัติ แล้วก็ไปนั่งกำหนดลมหายใจ ดูท้อง ดูมือ ดูเท้า ดูลม 5 นาที มันก็คือทรมานตัวเอง 5 นาที แต่ถ้าเรามีสติอยู่ เห็นร่างกายหายใจ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เห็นร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง ใจเป็นแค่คนรู้คนดูอยู่ทั้งวัน ก็ไม่จัดว่าเป็นการทรมานตัวเอง แต่เป็นการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นตัวที่จะชี้ขาดว่า ที่เราทำอยู่นี้เป็นการปฏิบัติธรรมจริงหรือเปล่า อยู่ที่เรามีสติจริงหรือเปล่า หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 8 กุมภาพันธ์ 2568

Direct download: 680208.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตกับการปฏิบัติธรรมนี่มันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แยกจากกันไม่ได้ แต่เราต้องเข้าใจคำว่าปฏิบัติธรรมก่อน ทุกวันนี้เราเข้าใจคำว่าปฏิบัติธรรมนี่มั่วมากเลยแคบมากไป คิดว่าต้องไปวัด นุ่งขาวห่มขาว ต้องนั่งสมาธิ ต้องเดินจงกรม ถึงจะเป็นการปฏิบัติธรรม ที่จริงธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน เอาไปใช้ได้จริงๆ ในชีวิตของเรานี่ล่ะ อย่างฆราวาสเราก็ปฏิบัติธรรมแบบฆราวาส พระก็มีปฏิบัติธรรมแบบพระ คนที่ต้องการอยู่กับโลก ก็ปฏิบัติธรรมแบบที่จะอยู่กับโลก แล้วมีความสุขความเจริญ คนที่อยากพ้นโลกก็ปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง ทีนี้เราไปคิดว่าการปฏิบัติธรรมต้องนั่งสมาธิ เดินจงกรม ต้องทำสมถะ ต้องวิปัสสนา มันก็ถูกแต่ถูกเสี้ยวเดียวส่วนเดียว ที่จริงการปฏิบัติธรรมกับการดำรงชีวิตเป็นอันเดียวกัน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 2 กุมภาพันธ์ 2568

Direct download: 680202.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

พยายามศึกษาธรรมะ ศึกษาให้ดี อย่าศึกษาทางโซเชียลอย่างเดียว ธรรมะเพี้ยนๆ มากมายเหลือเกิน ถ่ายทอดกันออกไปเยอะแยะเลย สอนปริยัติเพี้ยนบ้าง สอนปฏิบัติเพี้ยนบ้าง บางทีพวกสอนปฏิบัติเพี้ยนก็น่ากลัว อันตรายกับคนที่เรียน คนสอนก็เป็นบ้า คนเรียนก็เป็นบ้าไปก็มี ไม่ใช่ไม่มี ปริยัติเพี้ยนนี่ยิ่งหนักใหญ่ พระไตรปิฎกเสียหายไป เกิดสัทธรรมปฏิรูป ปฏิบัติผิด ก็ผิดเฉพาะตัว ถ้าเอาไปสอนต่อก็ผิดต่อ แต่ปริยัติผิดแล้วเผยแพร่ออกไป คนทรงจำไว้ก็อันตราย คนยุคนี้ก็ไม่มีการศึกษาธรรมะ ก็งมงาย ใครเขาพูดอะไรหวือๆ หวาๆ ตื่นเต้น เชื่อถือ หลายเรื่อง พูดกันแล้วมันดูเท่ ดูทันสมัย ดูไม่งมงายอะไรอย่างนี้ แต่มันไม่ถูกธรรม ไม่ถูกวินัย ก็เผยแพร่กันเยอะ ต้องระมัดระวัง หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 1 กุมภาพันธ์ 2568

Direct download: 680201.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

รู้ด้วยใจปกติเลย อย่าไปทำใจให้ผิดปกติ จิตใจปกติในการที่เราจะใช้ปฏิบัติธรรม จิตปกติของเราพระพุทธเจ้าท่านเรียกจิตเดิม จิตธรรมดาของเรานี่เอง มันประภัสสรอยู่แล้ว มันผ่องใส แต่มันเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา แค่อยากปฏิบัติมีโลภะเกิดขึ้น จิตก็ผิดปกติแล้ว เราจะใช้จิตใจของคนธรรมดานี่ล่ะ ปกติอย่างนี้ เรียนรู้กายเรียนรู้ใจ อย่างร่างกายเราหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก รู้ด้วยจิตปกติ ไม่ต้องวางฟอร์มเป็นนักปฏิบัติ ต้องไม่เหมือนคนธรรมดาอะไร นี่เข้าใจผิดอย่างยิ่งเลย เสียเวลา อย่างขณะนี้ร่างกายเรานั่งอยู่ ยากไหมที่จะรู้ว่าตอนนี้นั่งอยู่ ไม่เห็นยากเลย ตอนนี้ขยับส่ายหัวอย่างนี้ ส่ายหน้า รู้สึก รู้สึกด้วยใจปกติใจธรรมดา ฉะนั้นมันจะไม่ใช่เรื่องยาก ที่ยากเพราะเรามีความเห็นที่ว่าการปฏิบัติต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนี้ อย่างนี้ถูก อย่างนี้ไม่ถูก สิ่งเหล่านี้เขาเรียกว่าสีลัพพตปรามาส หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 26 มกราคม 2568

Direct download: 680126.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:30am +07

จิตมันก็ทำงานไปตามธรรมชาติ แล้วมันก็ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่ว ไปตามเรื่องของมัน หน้าที่เราคืออ่านจิตใจตัวเองให้ออก การดูจิต เราไม่ได้ดูเพื่อละกิเลส เพราะถ้าเมื่อไรมีสติ รู้ทันจิตใจตัวเอง มันไม่มีกิเลสจะให้ละ เพราะฉะนั้นเราเจอกิเลส เรื่องเล็กมากเลย มีสติรู้ปุ๊บ กิเลสดับเองเลย ไม่ต้องหาทางละกิเลส หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 25 มกราคม 2568

Direct download: 680125.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ที่เรามาภาวนาไม่ใช่เพื่อจะเหนือธรรมดา แต่เราภาวนาเพื่อให้จิตใจมันเห็นความจริงซ้ำแล้วซ้ำอีก ความจริงในร่างกาย ความจริงในจิตใจ พอเห็นความจริงจนกระทั่งมันยอมรับว่าธรรมดาเป็นอย่างนี้ล่ะ ธรรมดาต้องแก่ พอแก่เราก็ยอมรับได้ เราไม่ทุกข์ ธรรมดาต้องเจ็บต้องป่วย ยอมรับได้ เจ็บป่วยขึ้นมาเราก็ไม่ทุกข์ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ธรรมดาจะต้องตาย ถ้าจะตายเราก็ไม่ทุกข์ ถือว่าธรรมดา ในด้านจิตใจ เราก็ประสบกับอารมณ์ที่พอใจบ้างไม่พอใจบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ว่าเราจะเจอแต่อารมณ์ที่ถูกใจอย่างเดียว อารมณ์ที่ไม่ถูกใจเราก็ต้องเจอ ถ้าใจเรายอมรับความจริงได้ เวลากระทบอารมณ์ จิตมันจะค่อยเป็นกลาง กระทบอารมณ์แล้วก็สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ใจมันยอมรับได้ เสียงมากระทบหู จะเสียงชมหรือเสียงด่า มันก็แค่เสียงเหมือนกัน มาแล้วมันก็ไป เราพยายามฝึกกรรมฐานไม่ได้ฝึกเพื่อจะอยู่เหนือธรรมดา แต่ฝึกเพื่อให้ยอมรับธรรมดา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 19 มกราคม 2568

Direct download: 680119.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ต้องสำรวจใจของเราเองบ่อยๆ ถ้าเราอ่านใจตัวเองออก สังเกตบ่อยๆ แล้วสติ สมาธิ ปัญญาของเราจะดีขึ้น หัดอ่านใจตัวเองไว้ ใจเราขณะนี้เป็นกุศลหรืออกุศล ไม่ต้องสนใจที่อื่นหรอก สนใจใจของเราเอง ถ้าเราคอยสังเกตใจของเรา ใจเป็นอกุศลก็รู้ ใจเป็นกุศลก็รู้ สังเกตไปเรื่อยๆ มันโลภขึ้นมาก็รู้ มันโกรธขึ้นมาก็รู้ มันหลงขึ้นมาก็รู้ รับรองว่าพัฒนาแน่นอน ถ้าสังเกตอย่างนี้ เพราะการที่เราคอยสังเกตจิตใจของเราเองว่ามีอกุศลไหม เป็นกุศลหรือยัง คอยสังเกตไป มันคือการเจริญสัมมาวายามะ ถ้าสัมมาวายามะเราทำให้มากเจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ สัมมาสติเมื่อทำให้มากเจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ สัมมาสมาธิเมื่อทำให้มากเจริญให้มาก ก็จะทำให้การเจริญปัญญาสมบูรณ์ขึ้นมา มีสัมมาญาณะ มีสัมมาวิมุตติ เกิดมรรคเกิดผลขึ้นมา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 18 มกราคม 2568

Direct download: 680118.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เป็นชาวพุทธต้องมีเหตุผล คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องเหตุเรื่องผลทั้งนั้น ถ้าเราไม่รู้จักเหตุผลก็งมงาย อาศัยศรัทธางมงายไปวันๆ หนึ่ง ยิ่งไม่ได้ศึกษา ก็โดนคนอื่นเขาต้มเอา มาบอกอะไรเรา เราก็เชื่อ อันนี้คิดว่าเป็นธรรมะ จริงๆ บางทีก็ไม่ใช่ บางทีก็เป็นเรื่องเขาก็คิดเอาเอง พูดเอาเอง คำสอนของพระพุทธเจ้า ของพระสาวก ก็เป็นเรื่องของเหตุกับผล ผลอันนี้เกิดจากเหตุอย่างนี้ เหตุอย่างนี้ส่งผลให้มีผลอย่างนี้ เป็นเรื่องเหตุเรื่องผล เราอยากมีความสุขก็ต้องทำเหตุของความสุข ต้องละเหตุของความทุกข์ เราอยากพ้นทุกข์ เราต้องดู ความทุกข์เกิดจากอะไร แล้วไปละที่เหตุ ระหว่างเรื่องเหตุกับผล เวลาละละที่เหตุไม่ใช่ละที่ผล คนส่วนใหญ่จะไปหลงวุ่นวายอยู่กับตัวผล ไม่ได้สนใจที่ตัวเหตุ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 12 มกราคม 2568

Direct download: 680112.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

พยายามฝึกการปฏิบัติอย่าเว้นวรรค ฝึกตั้งแต่ตื่นจนหลับ ฝึกไปเรื่อยๆ มีสติรู้กายรู้ใจอย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ ดูกายมันทำงาน ดูใจมันทำงาน อย่างตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ปุ๊บ เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศล รู้ทัน อันนี้แบบหนึ่ง อีกแบบหนึ่งก็คือตาหลงไปดูรูป รู้ทันตา หลงไปฟังเสียง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย รู้ทัน ใจเราหลงไปคิด รู้ทัน นี่รู้พฤติกรรมของจิตที่เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉะนั้นจะดูจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว อันนี้จิตเกิดร่วมกับเจตสิก อย่างนี้ก็ได้ จะดูจิตที่เกิดดับทางทวารทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ได้ แล้วก็เห็นไตรลักษณ์เหมือนกัน หัดรู้หัดดูไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จะได้ของดี อย่าเว้นวรรค มีเวลาเมื่อไรปฏิบัติทันที ไม่เอาเวลาไปนั่งเล่นอินเทอร์เน็ต นั่งคุยตลอดเวลา ฟุ้งซ่าน ไม่ได้เรื่องหรอก หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 11 มกราคม 2568

Direct download: 680111.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เราทำอะไรเราก็จะได้ผลอย่างนั้น เราก็พยายาม ไหนๆ เราก็เจอศาสนาพุทธแล้ว ก็มาสร้างคุณงามความดีให้ตัวเอง ทำทานให้เป็น ถือศีลให้เป็น ทำสมาธิให้เป็น เจริญปัญญาให้เป็น สะสมไป ถ้าบุญวาสนาบารมีพอ เราก็จะบรรลุมรรคผลในชีวิตนี้ ถ้าไม่พอ ชาติหน้าจะภาวนาง่ายกว่านี้ เพราะจิตมันคุ้นเคยกับการปฏิบัติแล้ว อย่างจิตมันคุ้นเคยกับการถือศีลอย่างนี้ มันก็ถือศีลง่าย จิตมันคุ้นเคยการทำทาน มันก็ทำทานได้ง่าย จิตมันเคยฝึกสมาธิ มันก็ทำสมาธิง่าย จิตมันเคยเดินวิปัสสนา มันก็เกิดวิปัสสนาญาณง่าย ของฟรีไม่มี ทั้งหมดอยู่ในกฎแห่งกรรม คนที่เขาง่ายนี่เพราะเขาทำมาก่อนแล้ว เขาลำบากมาแล้ว ของเราถ้ามันรู้สึกยังไม่ง่ายก็อดทน ไม่ใช่มันยากเกินไปแล้วไม่ทำ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 5 มกราคม 2568

Direct download: 680105.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ตรงที่จิตมันปรุงแต่งของมันตามธรรมชาติธรรมดา อันนั้นไม่ต้องไปห้ามมัน ไม่ผิด จิตมันจะปรุงสุขก็รู้เอา จิตมันจะปรุงทุกข์ก็รู้เอา จิตมันปรุงไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้เอา จิตมันปรุงกุศลก็รู้ มันปรุงโลภ ปรุงโกรธ ปรุงหลง ปรุงฟุ้งซ่าน ปรุงหดหู่ มันจะปรุงอะไรก็เรื่องของมัน หน้าที่ของเรามีแค่ตามรู้ไป ถ้าเรารู้มันด้วยจิตใจปกติ ฝึกเรื่อยๆ จนใจเราเป็นปกติ เราจะแยกแยะความปรุงแต่งออกได้ง่าย ถ้าจิตเราไม่เคยประภัสสรเลย ไม่เคยเป็นจิตธรรมดาเลย เราเข้าไปปรุงแต่งตลอด เราก็จะไม่รู้จักจิตธรรมดา พอเราไม่รู้จักจิตธรรมดาจะแยกไม่ออกว่า นี้เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาสู่จิต หรือว่าเป็นอะไรกันแน่ ถ้าเรามีจิตที่ธรรมดา เราจะเห็นสิ่งที่แปลกปลอม ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่ถ้าเราไปปรุงแต่งจิต จิตเราปนเปื้อนแล้ว มันถูกความปรุงแต่งที่เราจงใจทำเข้าไปปนแล้ว เวลามีความปรุงอื่นผ่านมา เราแยกไม่ออกแล้ว ไม่รู้ว่าอันนี้เป็นจิตปรุงแต่ง หรือว่าเราไปปรุงแต่งจิต 2 อันนี้ไม่เหมือนกัน จิตมันปรุงกิเลสกับกิเลสมันปรุงจิต ถ้าเราสังเกตให้ดีมันจะมี 2 อัน อันหนึ่งเราไม่ได้เจตนาที่จะปรุงแต่ง แล้วความปรุงแต่งมันเกิดขึ้น มันปรุงไปด้วยความเคยชินของจิต หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 4 มกราคม 2568

Direct download: 680104.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

จับหลักให้แม่นๆ ถ้าเราต้องการทำความสงบ ให้น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ตัวที่เป็นพระเอกในการทำสมถะ คืออารมณ์กรรมฐาน ที่เราถนัด ที่เราพอใจ อยู่แล้วสบายใจ ตัวนี้เป็นพระเอกคือตัวอารมณ์ ฉะนั้นเราก็เอาจิตเรา ไประลึกรู้อารมณ์อันนั้นไปเรื่อยๆ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง เรารู้อารมณ์ที่มีความสุขอันนั้น ไม่นานหรอกก็จะสงบ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 31 ธันวาคม 2567

Direct download: 671231.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเผชิญทุกสิ่งทุกอย่าง โดยการฝึกกรรมฐาน อ่านจิตตัวเองให้เป็น แล้วเราอยู่ในภาวะอันไหน สิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ปรากฏการณ์ทั้งหลาย จะไม่กระเทือนเข้ามาถึงใจเรา จิตใจเราจะสงบจิตใจเราจะมั่นคง จิตใจเรามีความสุขอยู่ในตัวของตัวเอง ไม่ขึ้นกับฤดูกาล ดิน ฟ้า อากาศ ไม่ขึ้นกับระยะเวลาอะไรทั้งสิ้น ฝึกเอา อ่านจิตตัวเองไป หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 29 ธันวาคม 2567

Direct download: 671229.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ศีลข้อที่เสียบ่อยคือศีลข้อ 4 พูดจาที่ไม่ดีมีระดับ อันหนึ่งพูดเท็จพูดโกหก อันหนึ่งพูดส่อเสียด พูดให้เขาเกลียดกันให้เขาทะเลาะกัน ทุกวันนี้เยอะมากเลยเรื่องตัวนี้ อย่างเราไปด่าคนลงในโซเชียล พอเริ่มด่าสักคนหนึ่ง คนอื่นจะเข้าไปด่าด้วย ถูกกระตุ้น เพิ่มกระแสความเกลียดชัง ทำให้เขาขัดแย้งกันเขาแตกแยกกัน อีกเรื่องหนึ่งก็พูดคำหยาบ พูดคำหยาบก็ออกมาจากใจที่หยาบ ใจที่สำรวมระวัง ไม่พูดคำหยาบ อีกอย่างหนึ่งเรียกว่าพูดเพ้อเจ้อ พูดโดยไม่จำเป็นต้องพูด ทุกวันนี้พูดเพ้อเจ้อเยอะ เล่นทางโซเชียล เล่นอินเทอร์เน็ตกันก็เขียนเล่าโน้นเล่านี้ ถ้าเราภาวนาเราจะรู้ การพูดบั่นทอนพลังของจิต คนพูดมากๆ พลังจิตจะอ่อนลงๆ จิตฟุ้งซ่าน แล้วเราพูดเท่าที่จำเป็น หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 28 ธันวาคม 2567

Direct download: 671228.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

สิ่งที่ผิดก็มี 2 อันเท่านั้น ก่อนที่จะเข้าสู่ทางสายกลาง อันหนึ่งหลงไปเที่ยวแสวงหาอารมณ์ต่างๆ เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค อารมณ์ต่างๆ ล้วนแต่เรื่องกามคุณอารมณ์ทั้งนั้น อีกอันหนึ่งเป็นอัตตกิลมถานุโยค เพ่งจ้องเอาไว้ ทำตัวเองให้เนิ่นช้าให้ลำบาก ทางสายกลางก็คือต้องไม่สุดโต่งไป 2 ฝั่งนี้ อันหนึ่งลืมอารมณ์กรรมฐาน อันหนึ่งไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน 2 อัน ถ้าลืมอารมณ์กรรมฐานแล้วเรารู้ปุ๊บ จิตจะทรงสัมมาสมาธิทันทีเลย แต่ถ้าเพ่งอารมณ์กรรมฐานอยู่ มันยังเพ่งต่อได้อีก รู้ว่าเพ่ง เราก็ยังเพ่งได้อีก ให้รู้ทันเบื้องหลังของการเพ่ง คือความโลภ โลภะตัวเดียวนี้ล่ะ ตัวอยากดี ถ้ารู้ตัวนี้ การเพ่งก็จะดับ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 22 ธันวาคม 2567

Direct download: 671222.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

1 2 3 4 5 6 7 Next » 72