Direct download: 670408.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้สึกตัว เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่าความรู้สึกตัว เป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติ ที่จะล้างอาสวกิเลสทั้งหลายได้ ถ้าปราศจากความรู้สึกตัว โอกาสยากมากที่จะสู้กิเลสได้ ก็หลงทั้งวัน มันก็กลายเป็นเครื่องมือของกิเลสทั้งวัน หลงตลอดเวลา โมหะเอาไปกินเอาไปครอบงำไว้ทั้งวัน ไม่เคยรู้สึกตัว พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าท่านไม่เห็นธรรมะใดสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัว ธรรมะที่เป็นไปเพื่อจะลดละกิเลส เพื่อจะพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทำไปด้วยความรู้สึกตัว ถ้าอานาปานสติหายใจออก รู้สึกตัว หายใจเข้า รู้สึกตัว ถ้าดูอิริยาบท 4 ยืน รู้สึกตัว นั่ง รู้สึกตัว เดิน รู้สึกตัว นอน รู้สึกตัว ทำสัมปชัญญบรรพ เคลื่อนไหว รู้สึก หยุดนิ่ง รู้สึก เน้นตรงที่รู้สึก แล้วการที่เรารู้สึกอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากความรู้สึกตัวแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือความสงบ คือสมาธิ เพราะฉะนั้นถ้าหากเราทำกรรมฐานโดยเน้นที่ความรู้สึกตัว เราจะได้สมาธิชนิดที่ตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 7 เมษายน 2567

Direct download: 670407.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

มันไม่มีอะไรที่แน่นอนสักอย่างเดียวเลย เพราะฉะนั้นความดีใดๆ ก็ตาม จะเป็นทาน เป็นศีล เป็นภาวนา ความดีใดๆ ก็ตาม มีโอกาสทำให้รีบทำ อย่าเอาไว้ก่อนเอาไว้ก่อนเอาไว้ก่อน แล้วไม่ได้ทำ แล้วเราจะเสียใจทีหลัง ไม่ว่าชีวิตจะดีหรือจะเลว สุดท้ายเราก็อยู่ในโลกนี้ชั่วคราวเท่านั้นล่ะ จากไปโดยมีสมบัติติดตัวไปหรือว่าไม่มี จะต้องรอรับส่วนบุญของคนอื่น เราทำเอาเองได้ทั้งนั้น มางานศพทั้งที คนตายเขาได้แสดงธรรมะให้เราดู ว่าเกิดแล้วตายแน่นอน พวกเรายังไม่ทันจะตาย เรามาฟังธรรมะเพื่อเตรียมตัวตายอย่างมีศักดิ์ศรี เตรียมตัวตายอย่างคนมีปัญญา แบบลูกศิษย์มีครู ไม่ใช่ตายแบบอนาถา ตายแล้วก็ต้องมาวิ่งตะกาย ขอให้คนแผ่ส่วนบุญให้ หวังพึ่งอะไรอย่างนั้น พวกผีพวกเปรต อายุมันยืนกว่าคน สมมุติว่าเราไปเป็นเปรต ลูกหลานเราทำบุญให้เรา เหลนเราตายแล้ว เรายังไม่ตายเลย ไม่มีใครทำบุญให้แล้ว ต่อไปก็เป็นผีไร้ญาติจนได้ พูดง่ายๆ อายุยืนกว่ามนุษย์ เพราะฉะนั้นทำไว้ด้วยตัวเองปลอดภัยที่สุด หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช สำนักสงฆ์โสธรธรรมนิมิต 6 เมษายน 2567

Direct download: 670406B.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์สอนให้ดูกายก่อน เพราะมันดูง่าย มันเป็นของหยาบ ร่างกายไม่เคยหนีไปไหนเลย มีแต่จิตเราหนีไปจากร่างกาย พอเรารู้ความจริงของร่างกาย มันเป็นของไม่เที่ยง มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา มันบังคับควบคุมอะไรไม่ได้ มันเป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง พอใจมันเห็นความจริง ใจมันก็จะหมดความยึดถือในร่างกาย ในส่วนนามธรรมเราก็ดูไป ค่อยๆ แยกสภาวธรรม ให้มันละเอียดขึ้น เราจะเห็นว่าจิตนั้นก็เป็นสภาวะอันหนึ่ง ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่สุขไม่ทุกข์โดยตัวของมันเอง มันดีมันชั่ว มันสุขมันทุกข์ เพราะมีธรรมะอย่างอื่น มีขันธ์อย่างอื่น นามขันธ์อันอื่นที่ไม่ใช่จิตเข้ามาปรุงแต่ง ความสุขมาปรุงแต่งขึ้นมา มันก็เป็นเราสุข ความทุกข์ปรุงแต่งก็เป็นเราทุกข์ ความดีปรุงแต่งก็เป็นเราดี ความโลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นมา เราโลภ เราโกรธ เราหลง กลายเป็นเราทุกทีไป ถ้าหัดแยกได้ เราก็จะเห็นเวลาความสุขเกิดขึ้น เราจะเห็นว่าจิตก็เป็นอันหนึ่ง ความสุขก็เป็นอันหนึ่ง ความสุขกับจิตเป็นสภาวธรรมคนละชนิดกัน เกิดด้วยกัน แต่ว่ามันเป็นคนละอย่างกัน ความสุขทั้งหลายล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ จิตที่ไปรู้ความสุขเข้า ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับไม่ได้เหมือนกัน หัดดูอย่างนี้เรื่อยๆ ไป แล้วต่อไปพอจิตใจเราประณีตมากขึ้น เราจะเห็นว่ากระทั่งตัวจิตเองก็เกิดดับ จิตไม่ได้มีดวงเดียว จิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายก็คือไม่ว่าจะเห็นจิตผู้รู้เป็นอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา สุดท้ายก็คือปล่อยวางจิต ปล่อยวางจิตได้ก็ปล่อยวางขันธ์ทั้งหมดได้ ปล่อยวางขันธ์ทั้งหมดได้ ก็ปล่อยโลกทั้งหมดได้ ก็ไม่ยึดถือสิ่งใดในโลกอีกแล้ว จิตก็พ้นจากความทุกข์ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 31 มีนาคม 2567

Direct download: 670331.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ถ้าลงเห็นขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา ดูซ้ำๆๆ ไปเรื่อยๆ ไม่เฉพาะโสดาบันที่จะได้ ที่สุดแห่งทุกข์ก็มา เพราะการเห็นขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ตอนที่พระพุทธเจ้าสอนปัญจวัคคีย์ ท่านสอนอนัตตลักขณสูตร ท่านสอนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปัญจวัคคีย์พิจารณาแล้วเห็นตาม ไม่ใช่คิด ท่านเห็น ต้องเห็นสภาวะ แล้วปัญจวัคคีย์ก็รู้แจ้งแทงตลอด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือสิ่งที่เคยว่าเป็นเราๆ จริงๆ แล้วไม่ใช่เรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ท่านหมดความยึดถือในรูปนามขันธ์ 5 นี้ก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์ บรรลุพระอรหันต์ไป การที่เราเห็นขันธ์ 5 เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี่ล่ะ เป็นทางที่จะทำให้เราบรรลุมรรคผลตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป อย่างเราเห็นใจเดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ ปิ๊งขึ้นมารู้เลย จิตก็ไม่ใช่เรา จิตไม่ใช่เรา มันจะรู้ขันธ์ทั้งหมดไม่ใช่เรา มันจะรู้แจ้งลงไป ตัวเราไม่มี ปัญญาเบื้องต้นตัวเราไม่มี เป็นปัญญาของพระโสดาบัน แต่สุดท้ายเห็นแจ้งทะลุลงไปอีก ขันธ์ 5 ทั้งหมดไม่ใช่แค่ว่าไม่ใช่ตัวเรา เอาเข้าจริงๆ มันคือตัวทุกข์ มันทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง มันทุกข์เพราะมันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย มันทุกข์เพราะมันไม่อยู่ในอำนาจบังคับ อันนี้เรียกว่าทุกขสัจ ทุกขสัจจะ เห็นทุกขสัจแจ่มแจ้งก็คือพระอรหันต์ เพราะทันทีที่เห็นทุกขสัจแจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละอัตโนมัติเลย สัจจะอันที่สองคือสมุทัยดับทันที สัจจะอันที่สามคือนิโรธ คือนิพพาน ปรากฏขึ้นทันที ทันทีที่จิตสิ้นตัณหา จิตสิ้นตัณหาเพราะจิตรู้แจ้งในกองทุกข์ พอรู้แจ้งในกองทุกข์ก็สิ้นตัณหา พอสิ้นตัณหาก็สัมผัสพระนิพพานเลย พระนิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา และขณะนั้นคือขณะแห่งอริยมรรค หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 6 เมยายน 2567

Direct download: 670406A.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

คนทั้งหลายตลอดชีวิตวิ่งหาแต่ความสุข ใครๆ ก็อยากได้ความสุข ความสุขที่เขารู้จักนั้น ถ้าเป็นภาษาพระก็เป็นกามสุข เป็นสุขที่คลุกคลี ต้องไปเกี่ยวข้องกับคนอื่น ความสุขที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น มันไม่สุขจริง ก็คนมันวุ่นวาย มันกระทบกระทั่งกันตลอด ในโลกน่าสงสาร วิ่งหาความสุข แต่ไม่รู้ว่าความสุขที่ลึกซึ้ง ที่ประณีต คือความสงบ ความสุขอย่างโลกๆ มันไม่สงบ มีแต่ฟุ้งซ่าน มีแต่ทำให้เสพติด ความสุขที่เกิดจากความสงบ มันเริ่มตั้งแต่การทำสมาธิ สมาธิมันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการปฏิบัติ พอใจมันเริ่มสงบมันมีความสุข มันไม่ต้องยุ่งวุ่นวายอะไรกับใคร จิตที่มันสงบแนบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ตรงนี้ก็มีความสุขแล้ว แล้วถ้าจิตมันรู้ว่า มันไหลไปอยู่ที่อารมณ์ แล้วมันตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มันได้สมาธิอีกชนิดหนึ่ง ก็มีความสุขอีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนกัน พยายามฝึกนะ แล้วเราจะได้ความสุขที่ประณีตมากขึ้น ความสุขของสมาธิชนิดสงบ มันความสุขของเด็กๆ ได้ของเล่นที่พอใจแล้วก็ไม่ไปซนที่อื่น ความสุขของจิตที่ตั้งมั่น เป็นความสุขแบบผู้ใหญ่ พร้อมที่จะรับสถานการณ์ทั้งหลายทั้งปวง ด้วยจิตที่เข้มแข็ง อะไรก็ได้ที่ผ่านมา จิตมันตั้งมั่นเป็นคนเห็นเท่านั้นเอง ไม่อิน นี่ก็เป็นความสุขของสมาธิ 2 ชนิด ความสุขที่ประณีตขึ้นไปอีก คือความสุขจากการเจริญปัญญา เราเกิดความรู้ความเข้าใจ จิตใจมันอิ่มเอิบ มีปัญญา แล้วก็ถัดจากนั้น ถ้ามันเกิดอริยมรรค เกิดอริยผล มันมีความสุขยกระดับขึ้นไปอีก เวลาที่เกิดอริยมรรคแล้ว ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป จิตใจมันมีความมั่นคง มันมีความมั่นคง มันรู้ว่าการเดินทางถัดจากนี้ ในสังสารวัฏที่เหลือนี้ไม่ตกต่ำ พอ 4 ครั้งแล้วอาสวะมันจะถูกพรากออกไป แยกออกไป จิตมันจะแยกออกจากขันธ์เด็ดขาด ขันธ์นั้นคือตัวทุกข์ เพราะฉะนั้นจิตพ้นขันธ์ก็คือจิตพ้นทุกข์ ก็อยู่ไปเรื่อยๆ จนขันธ์แตกขันธ์ดับก็เรียกว่าดับทุกข์ ความสุขอันนี้ไม่มีอะไรเหมือน เป็นความสุขที่เสถียรเลย ความสุขของพระนิพพาน เป็นสุขยิ่งกว่าสิ่งอื่น ความสุขที่เราจะสัมผัส มันมีเป็นระดับๆ ไป เพราะสุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” เพราะนิพพานสงบอย่างยิ่ง สงบจากกิเลส สงบจากตัณหา สงบจากความปรุงแต่ง สงบจากความยึดถือทั้งปวง เพราะฉะนั้นมันมีความสุขอย่างยิ่ง ความสุขอย่างนี้พวกเรามีโอกาสเข้าถึง เพราะเราได้ยินได้ฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว คือเรื่องของสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 30 มีนาคม 2567

Direct download: 670330.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ในความเป็นจริงแล้วเรื่องของกรรม มันก็คือเรื่องของเหตุกับผลนั่นเอง ถ้าเราทำเหตุอย่างนี้ ผลมันก็เป็นอย่างนี้ ทำเหตุอีกอย่างหนึ่ง ผลก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง มันเป็นเรื่องของเหตุกับผล ธรรมะของพระพุทธเจ้าเต็มไปด้วยเรื่องเหตุกับผลทั้งนั้น ไม่มีอะไรเลื่อนๆ ลอยๆ พิสูจน์ไม่ได้ ฉะนั้นคำสอนของท่านจะเป็นเรื่องของเหตุกับผล อย่างถ้าเรามีตัณหา มีความอยากเกิดขึ้น ผลคือความทุกข์จะต้องเกิดขึ้น ฉะนั้นความอยากเกิดขึ้นเมื่อไร จิตก็สร้างภพทันทีเลย ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ ภพก็คือความดิ้นรนปรุงแต่งของจิต แล้วทันทีที่เกิดความดิ้นรนปรุงแต่งของจิต ความทุกข์ก็เกิดขึ้นทันทีเลย มันไม่มีใครคัดค้านได้ มันเป็นสัจธรรมอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำเหตุคือตัณหา ผลก็คือความทุกข์ ถ้าเราทำเหตุ คือศีล สมาธิ ปัญญา หรืออริยมรรคมีองค์ 8 สิ่งที่เราได้คือความพ้นทุกข์ ความดับทุกข์ อันนี้ก็ไม่มีใครกล้าเถียงได้เพราะว่ามันเป็นสัจธรรม หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 24 มีนาคม 2567

Direct download: 670324.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

อันหนึ่งเข้าฌานให้ได้ ซึ่งเรายุคนี้เล่นยาก ถ้าได้ถึงฌานที่ 2 ตัวผู้รู้จะเด่นดวงขึ้นมาเลย แล้วยิ่งฌานสูงขึ้นๆ ตัวรู้ก็ยิ่งแข็งแรง เวลาออกจากฌานมา ตัวรู้จะเด่นดวงอยู่ได้หลายวัน ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องรักษา แต่พวกเราทำฌานไม่เป็น ก็ใช้อีกวิธี อาศัยสติรู้ทันความปรุงแต่งของใจตัวเอง รู้มันไปเรื่อยๆ รู้ทันความปรุงแต่งของกายก็ได้ ร่างกายหายใจออกรู้สึก ร่างกายหายใจเข้ารู้สึก แล้วพอมันหลงลืมที่จะรู้ร่างกาย เราเคยฝึกที่จะรู้สึก ร่างกายหายใจออกหายใจเข้า พอมันหลงลืมร่างกายแป๊บเดียว มันก็จะกลับมารู้สึกได้ สภาวะอะไรก็ได้ ถ้าเรารู้ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า พอเราลืม หลงไปแล้วก็จังหวะการหายใจเปลี่ยน สติจะเกิดเองเลย จิตจะรู้ตัวขึ้นมา ตื่นขึ้นมา หรือจิตใจเรา เราเคยอ่าน มันสุขบ้าง มันทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง เรารู้ทันความปรุงแต่งที่มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พอเราหลง จิตมีความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์ดูง่ายกว่าสุข อย่างดูเวทนา ทุกข์มันดูง่ายกว่าสุข เฉยๆ ดูยากที่สุดเลย ฉะนั้นทีแรกเราจะเห็นทุกข์ก่อน พอใจเราทุกข์ขึ้นมา มันแน่นๆ ขึ้นมา ก็มีสติรู้ทัน เราเคยดูความทุกข์ความสุขของจิตใจชำนาญ พอโกรธปุ๊บ ใจมันมีความทุกข์ขึ้นมาแล้ว มันก็จะเห็น มีสติรู้ทันขึ้นมา ทันทีที่รู้ว่ามีความทุกข์ จิตจะดีดผางขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้เลย ส่วนที่ครูบาอาจารย์สอน ส่วนใหญ่ให้ดูหลง เพราะหลงนั้นเกิดบ่อยที่สุด ถลำลงไปเพ่งไปจ้องภายใน อารมณ์กรรมฐานบ้าง อะไรที่แปลกปลอมไหวๆ ขึ้นข้างในบ้าง จิตไหลไปเพ่งไปจ้อง รู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมา รู้ทันหลงแล้ว จิตจะดีดผางขึ้นมาเป็นผู้รู้ พอมีจิตเป็นผู้รู้ คราวนี้การภาวนาจะง่ายแล้ว หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 23 มีนาคม 2567

Direct download: 670323.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

พอเราเจริญวิปัสสนากรรมฐานมากๆ เราก็จะเห็นข้อบกพร่องของกาย มันบกพร่องคือมันไม่เที่ยง มันถูกความทุกข์บีบคั้น มันเป็นแค่วัตถุธาตุ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตก็วาง เห็นความจริงทางนามธรรมทั้งหลาย ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ ควบคุมไม่ได้ พอเห็นความจริง จิตก็วาง เรื่องอะไรต้องไปดิ้นรนแสวงหาความสุขในโลกให้วุ่นวาย ในเมื่อมันเป็นของที่ไม่ยั่งยืน เรื่องอะไรจะต้องเกลียดความทุกข์มากมาย ในเมื่อจริงๆ แล้วโลกนี้ก็มีแต่ทุกข์ ไม่มีอย่างอื่นหรอก พอเราเดินปัญญาจริงๆ จิตเราก็จะเป็นกลางต่อสุขและทุกข์ ต่อดีและชั่ว สุดท้ายเราก็ปล่อยวาง เห็นความไม่ได้สาระแก่นสารก็วาง เพราะฉะนั้นการที่เราจะปล่อยวางรูปธรรมนามธรรมได้ เราต้องเดินวิปัสสนา ดูไตรลักษณ์ของรูปธรรมของนามธรรม ดูแล้วดูอีก ไม่ใช่คิดเอาเองว่ามันเป็นไตรลักษณ์ ต้องรู้สึกเอา ต้องดูจนซาบซึ้งถึงอกถึงใจ ถึงจะปล่อยวางได้ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 17 มีนาคม 2567

Direct download: 670317.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

การปลูกต้นไม้ก็ต้องรู้จักต้นไม้ชนิดนี้ จะรดน้ำแค่ไหน จะใส่ปุ๋ยแค่ไหน เหมือนเรา เป็นต้นไม้ชนิดไหน เป็นต้นไม้ที่จะต้องเร่งความเพียรมาก หรือเป็นต้นไม้ที่ภาวนาไปเรียบๆ ง่ายๆ สังเกตตัวเองเอา อย่าทำไปด้วยความอยาก เห็นเขาภาวนาก็อยากอย่างเขา อย่างได้ยินว่าหลวงพ่อดูจิต เราก็อยากดูจิต เรายังไม่มีกำลังจะดูจิต เราก็ดูกายไป มันต้นไม้คนละชนิดกัน ต้นไม้แต่ละต้น เวลาจะใส่น้ำ จะใส่ปุ๋ยก็ต้องดู ต้นไม้ต้นนี้ต้องการน้ำมาก ก็ให้น้ำมาก ต้นนี้ต้องการน้ำน้อย ก็ให้น้ำน้อย ต้นนี้ต้องการปุ๋ยอย่างนี้ เราเอาปุ๋ยอีกอย่างไปใส่ มันก็ไม่โต ดีไม่ดีตาย ฉะนั้นต้นไม้แต่ละชนิดต้องการน้ำ ต้องการปุ๋ยไม่เหมือนกัน เราแต่ละคนก็ดูตัวเอง เราต้องการกรรมฐานชนิดไหนที่เหมาะกับเรา เรารู้จักประเมินตัวเอง ว่าเราเป็นต้นไม้ชนิดไหน ค่อยๆ ฝึกเอา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 16 มีนาคม 2567

Direct download: 670316.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

การปฏิบัติ ให้เราคอยรู้ทันความปรุงแต่งเอาไว้ จิตเรามันปรุงแต่งตลอดเวลา ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่ว ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน ความปรุงแต่งก็ครอบงำจิตใจเรา มันปรุงสุขขึ้นมา เราก็หลง ระเริง ปรุงทุกข์ขึ้นมา เราก็กลุ้มอกกลุ้มใจ เสียอกเสียใจ ปรุงกุศล คนไม่มีสติปัญญาพอ จิตปรุงดีขึ้นมาก็หลง หลงดี หลงดีก็ทุกข์อย่างคนดี จิตปรุงชั่วร้ายที่สุด มันปรุงโลภขึ้นมา เราไม่เห็น ปรุงทิฏฐิขึ้นมา ไม่เห็น ปรุงโกรธ ปรุงหลง ฉะนั้นจุดสำคัญ เราจะต้องคอยรู้เท่าทันความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในจิตใจเรา มันไม่ยากหรอก อย่างขณะนี้ใจเราสุขหรือใจเราทุกข์ ยากไหมที่จะรู้ ส่วนใหญ่พอมีความสุขมันก็เผลอเพลิน มีความทุกข์ก็มัวแต่เศร้าโศก หดหู่ ท้อแท้ แทนที่มีความสุขก็รู้ว่ามีความสุข เห็นว่าความสุขเป็นของที่แปลกปลอมผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป ความทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่ต้องไปหดหู่ท้อแท้ ก็เห็นว่าความทุกข์ทั้งหลายผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เหมือนกันหมด จะสุขหรือจะทุกข์ก็คือมาแล้วก็ไป กุศลหรืออกุศลก็เหมือนกัน ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ถ้าเราไม่รู้ทันความปรุงแต่ง จิตจะหลงในความปรุงแต่ง แล้วจิตเรามันจะยึดถือ ยึดถือจิตขึ้นมา ถ้ามีความปรุงแต่งเกิดขึ้น เรามีสติมีปัญญา จิตไม่เข้าไปยึดถือความปรุงแต่ง จิตก็ไม่เข้าไปยึดถือจิต หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 10 มีนาคม 2567

Direct download: 670310.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ถ้าเรายังไปปรุงแต่งจิตให้วิเศษแค่ไหน มันก็ยังเป็นของเก๊อยู่ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะภาวนา อย่ามัวแต่นั่งปรุงแต่งจิต ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็นไป มันก็จะอยู่ในหลักของคำว่ารู้ทุกข์ ละสมุทัย สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ 5 คือรูปนาม คือกายคือใจของเรานี้ล่ะ เราต้องรู้มัน ไม่ใช่ทิ้งมัน แล้วไปอยู่ในความว่าง เวลาที่เราจะรู้กายรู้ใจ เรามีสติรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ มีสติเห็นร่างกายนี้ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตใจก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แล้วก็มีปัญญาเห็นว่าร่างกายและก็จิต ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สติเป็นตัวรู้สภาวะ สภาวะคือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ปัญญาเป็นตัวเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม ฉะนั้นต้องเดินให้ถูกหลัก คำว่า “ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ” นี่เป็นกฎของการปฏิบัติ เป็นแม่บทใหญ่อยู่ในอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 ข้อคือ ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละ นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา อริยมรรคก็เกิดขึ้น หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 9 มีนาคม 2567

Direct download: 670309.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ธรรมะคือความจริง ความจริงขั้นที่หนึ่งก็คือ ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาสู่ความรับรู้ของเรา อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับทั้งสิ้น ความจริงระดับกลางก็คือ ร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีหรอก ร่างกายนี้คือทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ความจริงขั้นสูงก็คือ จิตใจนั่นล่ะมีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ตรงที่เห็นทุกข์เรียกว่าเรารู้ทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง กายนี้ทุกข์ ใจนี้ทุกข์ ความยึดถือในกายในใจก็ไม่มี ความอยากให้กายให้ใจเป็นสุข ความอยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ ก็ไม่มี นี่รู้ทุกข์ก็ละความอยากได้ เรียกรู้ทุกข์แล้วละสมุทัยได้ ทันทีที่เราละความอยากออกจากจิตได้ นิโรธคือภาวะที่พ้นจากความดิ้นรนปรุงแต่ง พ้นจากความอยากคือพระนิพพาน จะปรากฏขึ้นให้เรารับรู้ นิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหาสิ้นความอยาก มันสิ้นความอยากได้เพราะมันรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง การรู้ทุกข์ก็คือการรู้ความจริงของกายของใจอย่างแจ่มแจ้ง ก็จะละความอยากได้ ทันทีที่จิตหมดความอยาก จิตเข้าถึงความสงบสุข ความสงบสุขนั่นล่ะคือสภาวะของนิพพาน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 6 มีนาคม 2567

Direct download: 670306.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เรียนธรรมะ เราฟังหรือเราอ่านพอให้รู้วิธีปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ช่วยเราได้แค่นั้น ให้เรารู้วิธีปฏิบัติ ถัดจากนั้นเราก็ต้องลงมือทำด้วยตัวเอง ทำไปแล้วมีปัญหาติดขัดอะไร ก็ถามครูบาอาจารย์ ไม่ใช่นั่งคิดไปเรื่อยๆ ฟังแล้วก็คิดไปๆ หวังว่าวันหนึ่งจะเข้าใจธรรมะ ธรรมะเข้าใจไม่ได้ด้วยการคิดเอาหรอก ต้องลงมือเจริญสติ จุดอ่อนของปัญญา ก็คือคิดมาก หลายคนหลวงพ่อสอนให้รู้สึกตัว ให้ดูกายดูใจ เขาบอกเขายังดูไม่ได้ ต้องคิดไว้ก่อน เออ ก็คิดไป ชาตินี้คิด ชาติหน้าก็ไปคิดต่อ ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิดเอา เรียนด้วยการรู้สึก รู้สึกกาย รู้สึกใจ ดูกายหายใจออก หายใจเข้า ก็เห็นร่างกายหายใจออกหายใจเข้า ไม่ใช่เราหายใจออก ไม่ใช่เราหายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เราก็เห็นร่างกายมันยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เรายืน เดิน นั่ง นอน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 3 มีนาคม 2567

Direct download: 670303.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ก่อนที่จะเห็นไตรลักษณ์ได้ ก็ต้องเห็นลักษณะแต่ละตัวๆ จะเห็นว่าสภาวะแต่ละตัวเกิดแล้วดับ สภาวะแต่ละตัวเกิดแล้วดับ เห็นซ้ำๆๆ ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง ล้านครั้ง แล้วแต่ความดื้อของจิต บางคนเห็น 2 - 3 ที จิตเข้าใจแล้ว ยอมรับความจริงแล้ว เออ ทุกอย่างเกิดแล้วดับ เป็นพระโสดาบัน บางคนดูตั้งล้านครั้งแล้วถึงจะเห็น เพราะจิตมันสะสมปัญญามาน้อยหน่อย เพราะฉะนั้นลักษณะ 2 ประการนี้ ทำความรู้จักไว้ สภาวธรรมทั้งหลายมีลักษณะ 2 ประการ คือลักษณะเฉพาะตัว ทำให้ตัวมันแตกต่างกับสภาวะอันอื่น ทำให้เราเห็นได้ว่า ตอนนี้ตัวนี้เกิด ตอนนี้ตัวนี้ดับ มันจะเห็นได้ อีกอันหนึ่งคือลักษณะร่วมคือไตรลักษณ์ อันนั้นเป็นปัญญารวบยอดแล้ว เกิดจากการเห็นแต่ละตัวๆ เกิดดับ สุดท้ายจิตมันสรุป จิตสรุปไม่ใช่เราสรุป ถ้าให้เราสรุป เราสรุปกันตอนนี้เลยว่า สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นดับ แล้วเราก็เป็นปุถุชนเหมือนเดิม ต้องให้จิตมันสรุปเอง ถ้าไปคิดนำ มันก็ไม่ได้เรื่องหรอก หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 2 มีนาคม 2567

Direct download: 670302.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

สิ่งสำคัญที่เราต้องฝึกให้ได้ ถ้าเราไม่ได้สิ่งนี้เราปฏิบัติไม่ได้ ไม่ว่าจะทำสมถะหรือทำวิปัสสนา ก็ขาดสภาวะอันนี้ไม่ได้ คือสติ สติสำคัญที่สุด ขาดสติก็คือไม่ได้ปฏิบัติ สมถะก็ไม่มี วิปัสสนาก็ทำไม่ได้ สติมันเป็นตัวที่คอยรู้เท่าทัน มันรู้อะไร มันรู้ว่าร่างกายเรามีอยู่ ร่างกายเราเคลื่อนไหว มันรู้ว่าจิตใจเรามีอยู่ จิตใจเราเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง สติจะเป็นตัวคอยรู้ทันความมีอยู่ของร่างกายจิตใจ รู้ทันความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวของร่างกายจิตใจ สติถ้าเกิดขึ้นแล้วมันจะทำหน้าที่รักษาจิตใจของเรา ทันทีที่สติที่แท้จริงเกิดขึ้น อกุศลที่เคยมีอยู่จะดับทันที อกุศลใหม่จะเกิดไม่ได้ในขณะที่เรามีสติ ขณะที่เรามีสติจิตเราเป็นกุศลเรียบร้อยแล้ว แล้วถ้าสติยิ่งเกิดบ่อย กุศลของเราก็จะยิ่งมากขึ้นๆ พัฒนาเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ขาดสติจริงๆ ก็ไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ฉะนั้นสติเป็นองค์ธรรมสำคัญที่ขาดไม่ได้ สติเป็นอนัตตา สั่งให้เกิดไม่ได้ เราจะต้องดูว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดสติ ให้สติเกิดบ่อยๆ สตินั้นมีการที่จิตจำสภาวธรรมได้แม่น เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ถ้าเรารู้จักสภาวธรรมแล้วจำตัวไหนได้แม่นๆ สติจะเกิด สิ่งที่เรียกสภาวธรรมก็มีรูปธรรมกับนามธรรม อย่างร่างกายเรานี่เป็นส่วนของรูปธรรม จิตใจเราเป็นส่วนของนามธรรม ถ้าเรามองคำสอนของพระพุทธเจ้า มีคำสอนสำคัญอันหนึ่งคือเรื่องสติปัฏฐาน สติปัฏฐานเป็นหลักสูตรในการฝึกให้เรามีสติ เราก็ต้องคอยรู้ที่พระพุทธเจ้าท่านสอน รู้ร่างกายนี้เป็นส่วนของรูปธรรม รู้ความรู้สึกสุขทุกข์อันนี้เป็นส่วนของนามธรรม รู้ความเป็นกุศลเป็นอกุศลของจิตนี่ก็เป็นนามธรรม รู้ธรรมะอันนี้มีทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม เห็นกระบวนการทำงานของจิตใจ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 26 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670226.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

โลกไม่มีอะไร โลกเป็นแค่ความปรุงแต่ง หรือเรียกว่าสังขตธรรม เรียกง่ายๆ ว่าสังขาร สังขารมีหลายความหมาย สังขารขันธ์หมายถึงความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่วของจิต สังขารในภาพใหญ่หมายถึงกายใจของเรา รูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น อันนี้เรียกว่าสังขาร ภาวนาไปก็จะเห็นสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อันใหม่ก็เกิดขึ้นมาทดแทน พอจิตเราตั้งมั่น เราจะเห็นเลยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณคือตัวจิต เกิดขึ้นแล้วดับไป มีขึ้นแล้วก็หายไป ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม ทั้งกายทั้งใจ เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีแล้วก็หายไป อันใหม่ก็เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับๆ ไปเรื่อย ไม่พ้นทุกข์ พอเกิดแล้วค่อยดับ ดับแล้วยังเกิดอีก เวียนไปไม่จบ ถ้าเรารู้โลกแจ่มแจ้ง โลกนี้ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม ไม่มีอะไรเลยนอกจากทุกข์ รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ขันธ์ 5 เกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นอย่างนี้ จิตมันจะปล่อยวางรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วจิตมันจะเข้าถึง สภาวธรรมที่พ้นความปรุงแต่ง คืออสังขตธรรม สังขารทั้งหลายสงบเสียได้เป็นสุข สังขารคือรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น คือกายคือใจทั้งหมดทั้งสิ้นนี่ล่ะ มันเกิดดับๆ พอสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ทุกอย่างที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น จิตก็ปล่อย จิตมันปล่อย จิตก็พ้นจากความปรุงแต่ง หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 25 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670225.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

วิธีที่เราจะปลดปล่อยใจของเราให้พ้นจากอาสวกิเลสได้ พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้ภาวนาไป เจริญสติปัฏฐานนี่ล่ะ จนกระทั่งจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะความไม่ถือมั่น คีย์เวิร์ดมันอยู่ตรงที่ “ไม่ถือมั่น” เพราะฉะนั้นคำว่า “ไม่ถือมั่น” ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น มันจะเป็นหัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นในขันธ์ 5 ในกายในใจของเราได้ โดยเฉพาะไม่ยึดมั่นในจิตได้ เราก็ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ก็คือการที่เราเห็นความจริงของจิตใจตัวเอง เราจะเห็นความจริงของจิตใจตัวเองได้ เราก็อย่าไปคิดเอาว่าจิตเป็นอย่างไร แล้วก็อย่าไปแทรกแซง อย่าไปบังคับจิต ให้รู้สึกเอา จิตของเราสุขให้รู้ จิตของเราทุกข์ให้รู้ จิตเป็นกุศลให้รู้ จิตโลภ โกรธ หลงอะไร ให้รู้ ตามรู้ตามเห็นไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเห็นความจริงอันหนึ่งก็คือเห็นไตรลักษณ์ บางท่านภาวนาก็เห็นขันธ์ 5 ไม่เที่ยง บางท่านเห็นว่ามันเป็นทุกข์ คือถูกบีบคั้นให้แตกสลาย บางท่านเห็นมันเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ขันธ์ 5 ก็เป็นแค่สภาวธรรมเท่านั้นเอง เป็นสิ่งที่มีอยู่ แต่ว่ามีเหตุให้เกิดขึ้นมา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 24 กุมภาพันธ์ 2567 (ช่วงบ่าย)

Direct download: 670224B.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

วัดที่ใจของเรานี้ ตาเห็นรูป ใจเราเปลี่ยนแปลง เราเห็นขณะที่มันเปลี่ยนแปลงไป นี่ล่ะปัจจุบันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่เมื่อวานจิตเป็นอย่างนี้ วันนี้จิตเป็นอย่างนี้ อันนี้คิดเอา ไม่ได้เห็นเอา ไม่ใช่ทัสสนะ ไม่เกิดญาณทัสสนะ แต่เกิดการคิด คิดเอา เมื่อวานกับวันนี้ไม่เหมือนกัน แสดงว่าไม่เที่ยง อันนี้ยังไม่ใช่วิปัสสนา วิปัสสนาต้องใช้ทัสสนะ ใช้การเห็นเอา เห็นรูปเห็นนามอย่างที่เขาเป็น เขาเป็นอะไร เขาเป็นไตรลักษณ์ ตาเห็นรูป ใจเรามีความสุข ใจเราเกิดราคะ เรารู้ทัน อย่างนี้เรียกว่าเรารู้ปัจจุบันแล้ว หูได้ยินเสียง ใจเรามีความทุกข์ ใจเราเกิดโทสะ เรารู้ทัน มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจก็รู้ มีโทสะในใจเกิดขึ้นก็รู้ นี่เรียกเรารู้ปัจจุบันแล้ว คอยวัดใจตัวเองไปเรื่อยๆ ใจเรามีแต่ความเปลี่ยนแปลง ไม่มีความคงที่ แล้วไม่ต้องไปฝึกให้ใจคงที่ ใจจริงๆ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็ไม่ว่ามัน ให้มันเคลื่อนไหวไป ขอแค่มีสติตามรู้ตามเห็น แล้วต่อไปปัญญามันเกิด จะรู้เลย จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว เกิดแล้วดับ ทีแรกก็เห็นแต่ละอย่างเกิดแล้วดับ แต่ละอย่างเกิดแล้วดับ ตอนที่จะได้มรรคได้ผล มีปัญญารวบยอด จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ ไม่ใช่จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง เกิดแล้วดับ เหมือนที่ตอนที่ฝึกหรอก มันรู้ว่าทุกสิ่งที่เกิดมันดับทั้งสิ้น ค่อยๆ ฝึก วัดใจตัวเองให้ออก แล้วเราจะได้ของดีของวิเศษ ของดีของวิเศษไปขอใครไม่ได้ ต้องทำเอาเอง หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 24 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670224A.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

คำสอนของพระพุทธเจ้า จะอยู่ในกฎของคำว่า ให้รู้ทุกข์ ให้รู้ทุกข์ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น รู้ไปเรื่อยๆ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน คอยรู้สึกตัวไว้ ร่างกายที่ทำไมต้องยืน ต้องเดิน ต้องนั่ง ต้องนอน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องหายใจเข้า ต้องหายใจออก ทำไมมันต้องกินข้าว ทำไมมันต้องขับถ่าย ทำไมมันต้องดื่มน้ำ ทำไมต้องปัสสาวะ เพื่อหนีทุกข์ไปเรื่อยๆ เพราะในความเป็นจริงแล้ว มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา จิตใจเที่ยวแสวงหาความสุข ก็เพราะว่าอยากหนีทุกข์ ความเป็นจริงก็คือจิตใจมันไม่เคยให้ความอิ่มความเต็มกับเราหรอก มันขาดมันบกพร่องอยู่ตลอดเวลา ความหิวในใจเราไม่รู้จักสิ้นสุด ที่มันหิว มันหิวอะไร มันอยากให้กายให้ใจเป็นสุข มันอยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ ความอยากทั้งหลายที่เรามี มันก็ลงมาอยู่ รวมลงมาตรงที่อยากให้กายให้ใจมีความสุข อยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ แต่ถ้าเราเห็นความจริง กายนี้คือทุกข์ ใจนี้คือทุกข์ ไม่ใช่ของวิเศษหรอก เราอาศัยมันชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ยึดถือ เราก็จะไม่ทุกข์เพราะกายเพราะใจ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 19 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670219.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

สิ่งที่เราจะต้องพัฒนาขึ้นมาคือสติ ไม่ใช่พัฒนาว่าจะนั่งอย่างไร จะเดินอย่างไร จะกำหนดจิตอย่างไร ไปกำหนดมันทำไม จิตมันเป็นอย่างไร ก็รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตโลภโกรธหลงก็รู้ จิตเป็นกุศลก็รู้ ไม่เห็นต้องไปกำหนดอะไรเลย ต้องกำหนดไหมถึงจะโกรธ กำหนดแล้วไม่โกรธได้ไหม ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง ฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องฝึกให้มากคือสติ หลักสูตรในการฝึกสติ พระพุทธเจ้าวางไว้แล้ว เรียกว่าสติปัฏฐาน สติปัฏฐานเป็นวิธีฝึกให้เรามีสติในเบื้องต้น แล้วสติปัฏฐานเมื่อเรามีสติแล้ว เราปฏิบัติต่อไป เราจะเกิดปัญญา ฉะนั้นสติปัฏฐานมี 2 ระดับ เบื้องต้นทำให้เกิดสติ เบื้องปลายทำให้เกิดปัญญา เมื่อจิตเกิดปัญญารู้ความจริงของกายของใจแจ่มแจ้งแล้ว วิมุตติมันจะเกิด หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช บ้านจิตสบาย 18 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670218.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เราฟังแล้ว เราก็ไปลงมือทำ ถ้าเดินอย่างที่หลวงพ่อบอกนี่ เดินครบทุกขั้นทุกตอน ตามลำดับมาเลย ทำสมถะให้จิตมีกำลัง ทำสมถะให้จิตตั้งมั่น แล้วเจริญปัญญา เห็นความจริงของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณคือจิตนั้นล่ะ มันเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดูไปเรื่อยๆ ต่อไปก็พบว่า ไม่มีเราตรงไหนเลย รูปไม่ใช่เรา เวทนา สัญญา สังขาร ไม่ใช่เรา จิตก็ไม่ใช่เรา ตรงนั้นล่ะเราจะได้ธรรมะแล้ว ได้โสดาบันแล้ว วันนี้เทศน์ตามลำดับขั้นตอน ครบทั้งหลักสูตรเลย แต่บางคนเรียนข้ามขั้นได้ อย่างหลวงพ่อไม่ได้เริ่มจากรูป หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อตัดเข้าที่จิตเลย แล้วหลวงพ่อดูจิตที่จิต หลวงพ่อเห็นเวทนาทางใจ เห็นสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วทางใจ แล้วเห็นจิตเป็นผู้รู้ เป็นผู้หลง ตัดเข้ามาตรงนี้เลย ก็ย่นย่อหน่อย ถ้าดูเข้ามาตรงนี้ไม่ได้ ก็ดูร่างกายถูกรู้ ไม่ใช่เรา ดูไป เวทนาทางกายถูกรู้ ไม่ใช่เรา ไล่ไปอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็เจอจิตจนได้ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 17 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670217.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

นักปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่ทิ้งงาน มีงานต้องทำ มีหน้าที่ต้องทำแล้วก็ทิ้ง กะว่าจะปฏิบัติ พอถึงเวลาปฏิบัติ บางคนอยากปฏิบัติต้องไปอยู่วัด ทิ้งงานไปอยู่วัด พอไปอยู่ที่วัดก็คิดถึงงาน เอาดีไม่ได้สักที่หนึ่งเลย งานทางโลกก็ไม่ได้เรื่อง งานทางธรรมก็ไม่ได้เรื่อง เป็นฆราวาสต้องปฏิบัติให้ได้ ไม่ใช่จะมารอออกมาบวชแล้วถึงจะปฏิบัติ ถ้าคิดอย่างนั้นยังต่ำต้อยมากเลย เรียกต่ำต้อยไม่ถูก ต้องเรียกต่ำตม อยู่ใต้ตมเลย ไม่ใช่บัวพ้นน้ำ เป็นบัวต่ำตม ฉะนั้นแยกให้ออก มีหน้าที่ทางโลกอะไรบ้าง หน้าที่ทำมาหากิน หน้าที่ดูแลครอบครัว หน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่ เลี้ยงดูลูก เลี้ยงดูบุตร ภรรยา สามี หน้าที่มี หน้าที่ต่อหน่วยงาน อยู่ที่หน่วยงาน ต้องทำงาน ภักดีต่อองค์กร เลือกงานๆ ที่มันไม่สกปรก แล้วก็ทำหน้าที่ของเราในทางโลกให้เต็มที่ แล้วเวลาในทางธรรม งานทางโลก ถ้าเป็นงานสุจริต จะไม่เบียดบังการปฏิบัติของเราหรอก ภาวนาไป เราเป็นฆราวาส อย่าทิ้งทั้งทางโลกทั้งทางธรรม เราถึงจะเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ถ้ามีแต่ทางโลก มันก็เหมือนคนศาสนาอื่น ไม่แปลกอะไร จะเอาแต่ทางธรรม ก็เรียกคนไม่รู้จักหน้าที่ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 11 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670211.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เวลาฟังธรรมะ ฟังซื่อๆ ไม่ต้องตีความมาก ฟังไปคิดไปมันก็เรียนปริยัติล่ะถ้าอย่างนั้น เราจะฟังธรรมะได้แล้วรู้เรื่องดี ถ้าจิตของเราเป็นกุศล มหากุศลจิต ลหุตา เบา มุทุตา นุ่มนวล ปาคุญญตา คล่องแคล่วว่องไว ไม่เซื่องซึม กัมมัญญตา ควรแก่การงาน ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน อุชุกตา รู้ซื่อๆ ถ้าใจเราเป็นอย่างนี้ ใจอย่างนี้รับธรรมะง่าย ฉะนั้นเราปรับจิตใจของเรา ให้มันเป็นกุศลไว้ก่อน แล้วฟังธรรม เราจะได้ประโยชน์มาก ถ้าฟังไป แล้วก็ใจก็หนักๆ แน่นๆ เพ่งเอาไว้มากๆ บางคนเพ่ง เพ่งจนเครียด ฟังธรรมะไม่รู้เรื่อง จิตใจเหมือนกับครกหินทั้งลูก เอาน้ำสาดลงไป ไม่ซึมสักนิดเดียวเลย ใจกระด้าง กูก็แน่ กูก็หนึ่ง พวกนี้ก็รับธรรมะไม่ได้ พวกหัวดื้อหัวรั้น เจ้าความคิดเจ้าความเห็น ฉะนั้นเราสังเกตจิตใจเรา ให้จิตใจเราเป็นกุศลที่แท้จริง จิตใจที่เป็นกุศล เป็นจิตใจที่ฉลาด มันพร้อมที่จะรับธรรมะ สังเกตดูจิตเราขณะนี้หนักไหม แน่นไหม แข็งไหม ซึมทื่อหรือเปล่า หรือว่าคิดอุตลุด คิดกับรู้ตรงข้ามกัน คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงจะรู้ รู้อะไร รู้สภาวะ ถ้าคิดจะรู้อะไร รู้เรื่องที่คิด เรื่องที่คิดไม่ใช่สภาวธรรม สภาวธรรมคือรูปธรรมนามธรรม เรื่องราวที่คิดเรียกบัญญัติ มันเป็นคนละชนิดกัน ฉะนั้นถ้าเรายังหลงอยู่ในโลกของความคิด เราก็ไม่เห็นรูปธรรมนามธรรม ค่อยๆ สังเกตใจเรา เจ้าความคิดเจ้าความเห็นอะไรพวกนี้ โยนทิ้งไป เป็นอุปสรรคต่อการเรียนธรรมะ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 10 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670210.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เราต้องปฏิบัติตลอดชีวิต ไม่มีคำว่ายอมแพ้ บางครั้งเบื่อ เบื่อรู้ว่าเบื่อแล้วก็ภาวนาต่อ ปฏิบัติต่อ บางครั้งขี้เกียจ รู้ว่าขี้เกียจแล้วก็ปฏิบัติต่อ ใจมันจะเบื่อ ห้ามมันไม่ได้ ใจมันจะขี้เกียจ ห้ามมันไม่ได้ ความเบื่อความขี้เกียจอะไรนี่นิวรณ์ทั้งนั้นล่ะ เพราะฉะนั้นตัวนิวรณ์อย่ามองข้ามมัน ที่เราไม่เจริญก็เพราะตัวนิวรณ์นั่นล่ะ ในทางโลกนิวรณ์มาก งานการทางโลกก็เสีย ในทางธรรมนิวรณ์มาขวางกั้น ธรรมะก็ไม่เจริญ ฉะนั้นสังเกตจิตใจตัวเอง อย่าปล่อยให้นิวรณ์ครอบงำจิต หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 4 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670204.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

1 2 3 4 5 6 7 Next » 68