เราภาวนา เรียนรู้ความจริงของจิตใจตัวเองไปเลย ใจเราสุขขึ้นมารู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันก็จะเกิดรักเกิดโลภ ใจเราทุกข์ขึ้นมารู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันจะเกิดโกรธ คอยรู้ทันไปเรื่อยๆ สุดท้ายเราจะเห็น ปัญญามันจะเกิด เราจะเห็นว่าทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในใจเรา เกิดแล้วดับทั้งสิ้น ดูให้เห็นอย่างนี้ ใจจะหมดความยึดถือในความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ฉะนั้นคอยอ่านจิตอ่านใจตัวเอง ใจโลภขึ้นมาก็รู้ ใจไม่โลภแล้วก็รู้ ใจโกรธเราก็รู้ ใจไม่โกรธก็รู้ ใจหลงไปก็รู้ ฟุ้งซ่านใจหดหู่ รู้ทันไปเรื่อยๆ จนเห็นว่าทุกอย่างคือความปรุงแต่งทุกอย่าง เกิดแล้วดับหมด ปรุงดีเกิดแล้วก็ดับ ปรุงชั่วเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ต้องพยายามไม่ปรุง จิตมันไม่ปรุงเอง ถ้าพยายามไม่ปรุงก็คือความปรุงแต่ง ใช้ไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องพยายามไม่ปรุงแต่ง ให้เห็นความปรุงแต่งทุกอย่างเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ถึงจุดหนึ่งจิตมันวางความปรุงแต่ง ก็เข้าถึงสุญญตา เข้าถึงพระนิพพาน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 20 พฤศจิกายน 2566

Direct download: 661120.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

มีสติรักษาจิตไว้ กิเลสอะไรเกิดกับจิตใจรู้ไว้ แล้วเราจะได้ทั้งศีล ได้ทั้งสมาธิ ได้ทั้งปัญญา ถ้าศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์แล้ว ไม่ต้องห่วง อย่างไรวิมุตติคืออริยมรรคอริยผลต้องเกิด ถ้าศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์แล้ว อริยมรรคอริยผลก็จะเกิดขึ้น ฉะนั้นเรามีสติคุ้มครองรักษาจิตตนเองไปเรื่อยๆ คุ้มครองไม่ใช่ไปเฝ้าไม่ให้จิตกระดุกกระดิก มีสติคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองนั่นล่ะ คอยอ่านจิตตัวเองนั่นล่ะ แล้วสติจะเป็นผู้รักษาจิตเอง เราไม่ต้องรักษาจิต รักษาอย่างไรก็ไม่ได้ สติจะทำหน้าที่อารักขา อารักขาคือมันทำหน้าที่คุ้มครองจิตใจไม่ให้ตกไปสู่ที่ชั่ว เพราะฉะนั้นเรามีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อย จิตก็ได้รับความคุ้มครองได้รับการดูแล ไม่ทำผิดศีล ไม่ฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความตั้งมั่น แล้วการที่เรามีสติ ถ้าจิตเราตั้งมั่น แล้วสติระลึกรู้อะไรก็ตาม อันนั้นจะแสดงไตรลักษณ์ได้ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 12 พฤศจิกายน 2566

Direct download: 661112.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

การที่เราจะมาฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเอง เราจะได้ทั้งสัมมาสติ ได้ทั้งสัมมาสมาธิ คราวนี้พอเรามีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ จิตจะตั้งมั่นเด่นดวง เห็นสภาวะ สักว่ารู้ว่าเห็น แต่แค่นี้ยังไม่พอ บางทีมันก็ไปเห็นทุกอย่างว่างหมดเลย แล้วจิตก็ติดอยู่ในว่าง ต้องมีการหมายรู้ที่ถูกด้วย ต้องมีสัญญาที่ถูกต้องด้วย ปัญญาที่แท้จริงถึงจะเกิดขึ้น ถ้าจิตไม่มีสัญญา จิตเดินปัญญาไม่ได้จริง ฉะนั้นเราจะต้องฝึก ให้เราได้องค์ธรรมเหล่านี้ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 11 พฤศจิกายน 2566

Direct download: 661111.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

พระพุทธเจ้าท่านสอนฆราวาส ท่านสอนธรรมะบทหนึ่งชื่อ อนุปุพพิกถา ท่านสอนให้ทำทาน เป็นเรื่องดี สอนให้รักษาศีลไว้แล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ พวกเราก็จะไปจบอยู่ตรงขึ้นสวรรค์นี้ล่ะ พระพุทธเจ้าไม่ได้หยุดคำสอนอยู่แค่นี้ พระพุทธเจ้ายังสอนต่อไปอีก สวรรค์ก็ไม่ยั่งยืน ความสุขจากการเห็นรูปที่สวยๆ ก็ไม่ยั่งยืน สวรรค์อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ที่ดี เราเห็นรูปที่ดีได้ บางทีเราก็เห็นรูปที่ไม่ดีได้ ได้ยินเสียงที่ดีได้ บางทีก็ได้ยินเสียงที่ไม่ดีได้ ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสที่ดีได้ บางทีก็เจอของไม่ดีได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นตัวกามคุณทั้งหลาย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย ที่ว่าเราอุตส่าห์ทำบุญทำทาน เราขึ้นสวรรค์มาเพื่อจะได้สิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ไม่ยั่งยืน ถึงวันหนึ่งเทวดาก็ตกสวรรค์ หรือเราเป็นคนดีแท้ๆ เลย บางทีอกุศลให้ผลมา เราก็เจอสิ่งที่ไม่ดีขึ้นมา ฉะนั้นท่านยังสอนว่ามันมีโทษ สอนให้รู้จักปลีกตัวออกจากสวรรค์บ้าง สวรรค์ก็คือกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย ท่านก็สอนบอกสิ่งเหล่านี้ไม่ยั่งยืน ให้มาพัฒนาจิตใจให้สูงกว่าสวรรค์ขึ้นไปอีก คือการรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ 4 หลักธรรมที่ท่านสอน จะมาสู่จุดนี้ เรียกว่าอนุปุพพิกถา คนแรกที่ได้ฟังอนุปุพพิกถาคือ พระยสกุลบุตร แล้วคนต่อมาก็คือพ่อของพระยส พระยสฟังอนุปุพพิกถา ได้เป็นพระโสดาบัน อนุปุพพิกถาก็คือสิ่งที่หลวงพ่อเล่าให้ฟังนี้ล่ะ พระยสบารมีท่านเต็มแล้ว ท่านฟังแล้วได้โสดาบัน บารมีท่านเต็มแล้ว ท่านเบื่อ ท่านออกมาจากบ้าน พระยสเดินบ่นมาเรื่อยๆ ที่นี่ขัดข้องหนอ ว่าไปเรื่อยๆ พระพุทธเจ้าบอกที่นี่ไม่ขัดข้อง ท่านก็เลยเข้าไปฟังธรรม ฟังอนุปุพพิกถานี่ล่ะ แล้วได้โสดาบัน ตอนเช้าพ่อมาตาม พอพ่อพระยสมาถึง พระพุทธเจ้าก็สอนอนุปุพพิกถาให้อีก พ่อพระยสได้โสดาบัน พระยสฟังแล้วได้พระอรหันต์ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 5 พฤศจิกายน 2566

Direct download: 661105.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ต้องเจริญสติ เจริญปัญญาให้มาก ศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้มาก ทำให้เจริญขึ้น ก็คือการปฏิบัติตามองค์มรรคนั่นล่ะ เมื่อปฏิบัติมากเข้าๆ ต่อไปเราก็รู้ทุกข์ การที่เราคอยรักษาศีลไว้เป็นพื้นฐาน ฝึกจิตให้ตั้งมั่น ให้จิตมีกำลัง จิตมีกำลัง จิตต้องสงบแล้วก็ตั้งมั่น แล้วก็เจริญปัญญา เรียนรู้ความจริงของกายของใจ ความจริงของกายของใจคือไตรลักษณ์ ไม่ใช่เรื่องอื่น เราเจริญอยู่ในแนวทางของมรรค ตรงนี้ไม่ใช่อริยมรรค การที่เราปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ยังไม่ใช่อริยมรรค เรียกบุพพภาคมรรค คือเป็นเบื้องต้นของอริยมรรค เป็นจุดตั้งต้นของอริยมรรค ฉะนั้นเราก็พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาไป ปัญญาคือการเรียนรู้ความจริงของตัวทุกข์ เรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของจิต ก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ จะเห็นความจริงของกายของจิต หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 4 พฤศจิกายน 2566

Direct download: 661104.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ทำทานเพื่อลดละอกุศลเพื่อเจริญกุศล รักษาศีลเพื่อเจริญกุศลเพื่อละอกุศล ภาวนามี 2 อัน ทำความสงบกับเจริญปัญญา ทำความสงบก็เพื่อลดละอกุศล คือข่มนิวรณ์ไว้เพื่อเจริญกุศล จิตใจเกิดเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นกุศลขึ้นมา ทำวิปัสสนา ภาวนาในขั้นวิปัสสนาเพื่อล้างความเห็นผิด ความเห็นผิดว่ารูปนาม ขันธ์ 5 เป็นตัวดีตัววิเศษ พอรู้แจ้งเห็นจริงว่ารูปนาม ขันธ์ 5 คือตัวทุกข์ เรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง มันก็ละสมุทัย หมดความอยาก หมดความดิ้นรน ปรุงแต่ง ก็ไม่หยิบฉวยจิตใจขึ้นมาอีก ที่สุดของทุกข์มาอยู่ตรงที่วางจิตลงไปได้นั่นล่ะ เราทำวิปัสสนาไม่ใช่เพื่อความฉลาดรอบรู้ ทำวิปัสสนาเพื่อจะฉลาดรอบรู้ธรรมะมากมาย จะได้เอาไปคุยอวดคนอื่น นั่นทำไปเพื่ออกุศลแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำทาน รักษาศีล เจริญปัญญา ทำทาน รักษาศีล ทำความสงบและเจริญปัญญา ก็ต้องลดละอกุศล เจริญกุศล ตั้งเป้าไว้ให้ถูก ถ้าเราภาวนาอย่างนี้จิตเราจะเดินเข้าสู่วิสุทธิ วิสุทธิเป็นองค์ธรรมที่ดี แต่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อลดละกิเลส เพื่อเจริญกุศลทั้งนั้น ค่อยๆ ฝึก ถ้าเราภาวนาแล้ว ยังไม่ได้มุ่งไปที่ลดกิเลสตัวเอง ไม่ได้มุ่งไปที่เจริญกุศล ยังไม่เข้าร่องเข้ารอย ยังนอกรีตนอกรอยอยู่ ถ้าทำไปเพื่อละอกุศลเพื่อเจริญกุศล อันนั้นเข้าสู่ทางแห่งความบริสุทธิ์แล้ว จิตจะเดินไปในวิสุทธิทั้ง 7 หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 29 ตุลาคม 2566

Direct download: 661029.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ถ้าจิตมันพ้นจริงๆ จิตมันวางขันธ์ได้ มันเห็นความจริง ขันธ์ทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร แล้วก็จิต ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ มันวาง จิตมันจะมีอาการชนิดหนึ่งขึ้นมา ถัดจากนั้นจิตมันจะพรากจากขันธ์ แยกออกจากขันธ์เลย ไม่เข้าไปคลุกในขันธ์อีกแล้ว ที่จิตมันไม่เข้าไปคลุกในขันธ์แล้ว เพราะว่ามันสิ้นอาสวะแล้ว อาสวะ 4 ตัวนี้พระอรหันต์ละได้เด็ดขาด กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ คือละในเรื่องความคิดความเห็นผิดๆ อย่าว่าแต่ความเห็นผิด กระทั่งความเห็นถูกยังไม่ยึดเลย แล้วก็อวิชชาสวะ อวิชชาสวะนี้เป็นตัวหัวโจกของอาสวะเลย ถ้าล้างตัวนี้ได้อวิชชาก็จะไม่เกิด อวิชชาคือความไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ 4 หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 28 ตุลาคม 2566

Direct download: 661028.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เราภาวนา เข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเองให้ได้ จะรักษาศีลก็รู้เท่าทันจิต นี่จิตอยากทำผิดศีลแล้ว ด้วยความโลภความโกรธความหลง อยากทำผิดศีลรู้ทัน มันก็ไม่ผิดศีล เวลาจิตฟุ้งซ่านให้เรารู้ว่าฟุ้งซ่าน แล้วมันสงบเอง เพราะความฟุ้งซ่านเป็นกิเลส ทันทีที่มีสติกิเลสดับเลย จิตไม่ฟุ้งซ่าน จิตก็ตั้งมั่นจิตก็สงบ อาศัยการที่เรามีสติคอยรู้ทันจิตใจตัวเอง กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ก็ไม่ผิดศีล กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ก็มีสมาธิขึ้นมา อ่านจิตอ่านใจไปเรื่อย จิตเดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็เลว เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ รู้เท่าทันไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็ได้มรรคได้ผล ตั้งแต่ขั้นต้นเห็นเลยจิตไม่ใช่เรา โลกไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ในขั้นสุดท้ายที่จะแตกหักข้ามภพข้ามชาติ จะเห็นเลยจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ขันธ์ 5 คือทุกข์ โลกทั้งหมดคือตัวทุกข์ เรียกว่าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็เป็นอันละสมุทัย เข้าไปสัมผัส เข้าไปรู้เข้าไปเห็นพระนิพพาน เกิดอริยมรรคขึ้น นี้เป็นเส้นทางที่เราจะเดิน เป็นเส้นทางที่ลัดสั้นมากเลย ตัดตรงเข้ามาที่จิตตัวเอง แล้วบาปอกุศลทั้งหลายเราก็จะไม่ทำ กุศลทั้งหลายมันก็จะเจริญขึ้น หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 30 ตุลาคม 2566

Direct download: 661030.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ถ้าเรารู้ความจริงของกายของใจได้ ความทุกข์ในใจจะไม่เกิดขึ้น อย่างพวกเรามีความทุกข์ในใจเยอะแยะเลย อย่างในงานศพ เราพลัดพรากจากคนที่เรารัก การพลัดพรากจากคนที่รักเป็นทุกข์ แต่ถ้าเราภาวนาจนเราชำนาญ เราได้เห็นความจริง ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราเป็นของชั่วคราว เพราะฉะนั้นการที่จะแก่จะเจ็บจะตายอะไร เป็นเรื่องปกติเป็นเรื่องธรรมดา ธรรมะคือธรรมดา คือเรื่องธรรมดาเองไม่ใช่เรื่องพิสดารอะไร เรื่องเห็นผีเห็นนรกเห็นสวรรค์อะไรมันมีก่อนพระพุทธเจ้า แต่มันไม่ใช่ทางแห่งความพ้นทุกข์ มันเป็นทางของคนดีเท่านั้นแหละ ใจมันอยากทำบุญทำกุศลกลัวบาปกลัวกรรมเป็นเรื่องดีไม่ใช่ไม่ดี แต่ถ้าเราอยากพ้นทุกข์จริงๆ เราต้องเรียนให้สูงกว่านั้น หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 24 ตุลาคม 2566

Direct download: 661024.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เส้นทางที่เราจะต้องเดิน ขั้นแรกก็เตรียมจิตให้พร้อมที่จะเจริญปัญญา จิตที่พร้อมเจริญปัญญา ก็เป็นจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นเป็นจิตที่มีลักขณูปนิชฌาน ส่วนจิตที่เป็นกลาง ตัวนี้จะทำให้จิตมีพลัง เป็นอารัมมณูปนิชฌาน หลวงพ่อถึงบอกว่า “มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง) การรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงคือการเจริญปัญญา สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการเจริญปัญญา คือ สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิก็คือสภาวะที่ตั้งมั่นและเป็นกลางนั้นล่ะ ตั้งมั่นเอาไว้เดินปัญญา เป็นกลางนี้เอาไว้ชาร์จพลังให้จิตมีเรี่ยวมีแรง พอมีจิตตั้งมั่น มีเรี่ยวมีแรงมากพอ เอาไปเดินปัญญา อย่าเฉยๆ อยู่ เดินปัญญาก็คือ พอสติระลึกรู้กาย ไม่ใช่รู้อยู่ที่จิตนิ่งๆ เฉยๆ อย่างนั้น สติระลึกรู้กาย จิตตั้งมั่นและเป็นกลาง จะเห็นไตรลักษณ์ของกาย สติระลึกรู้เวทนา ถ้าจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง จะเห็นไตรลักษณ์ของเวทนา ถ้าจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง สติระลึกรู้สังขาร ปรุงดีปรุงชั่วทั้งหลาย จิตก็จะตั้งมั่น จะเป็นกลาง จะเกิดปัญญาเห็นไตรลักษณ์ขึ้นมา มันจะอันเดียวกัน ในสติปัฏฐานทั้ง 4 ขอให้มีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง สติระลึกอะไร อันนั้นแสดงไตรลักษณ์ทั้งหมด เราเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ที่หลวงพ่อใช้คำว่า “เห็นตามความเป็นจริง” ความเป็นจริงคือไตรลักษณ์ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 21 ตุลาคม 2566

Direct download: 661021.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เรียนเข้ามาให้ถึงจิตเลยตั้งแต่เริ่มต้น ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง จิตหลงไปคิดรู้ทัน จิตหลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานรู้ทัน ทำกรรมฐานไปขี้เกียจขึ้นมา รู้ทัน ทำกรรมฐานแล้วรู้สึกมีความสุข รู้ทัน คอยรู้ทันจิตตัวเองเรื่อยๆ ไป ถ้าต้องการความสงบ เวลามีความสุขก็อย่าไปเพลินมาก รู้ยินดีพอใจ จิตเราจะประณีตจะสงบยิ่งกว่าเก่าอีก เวลาที่เราภาวนาจิตสงบนี่จะเป็นระดับของฌาน ในเบื้องต้นจิตจะมีปีติมีความสุข แล้วเราภาวนาไป เราเห็นจิตมีปีติ ปีติดับ จิตมีแต่ความสุข ดูไปอีก ความสุขดับ จิตเป็นอุเบกขา ถ้าจิตยังมีปีติมีความสุขอะไรนี้ เป็นสมาธิขั้นต้นเท่านั้นเอง แต่ถ้าจิตเป็นอุเบกขาคือเป็นกลาง ตั้งมั่นเด่นดวงเป็นกลาง ไม่หลงไปในความยินดี ไม่หลงในความยินร้าย นั่นคือจิตที่มีสมาธิเต็มที่แล้ว ถ้าเราทำได้ขนาดนั้นเวลาเรามาเจริญปัญญา ตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ จะเห็นจิตเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เราจะใช้เวลาในการเจริญปัญญาไม่มากหรอก ถ้าเราตัดตรงเข้ามาที่จิตได้ก็เข้ามาที่จิตเลย แต่บางคนเข้าที่จิตตรงๆ ไม่ได้ ก็รู้สึกร่างกายไปก่อน เดินอ้อมหน่อยดีกว่าไม่เดิน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 20 ตุลาคม 2566

Direct download: 661020.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

หัดดูในขันธ์ 5 ดูไปเรื่อย ล้วนแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าการปฏิบัติ ไม่ใช่นั่งคิดเอา นั่งคิดเอาว่าร่างกายไม่ใช่เรา คิดเอาแล้วก็อิ่มอกอิ่มใจว่ากูรู้ธรรมะ มันรู้ด้วยการคิด มันยังไม่ได้เห็นของจริง ต้องลงมือปฏิบัติไปจนเห็นของจริง ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราเห็นด้วยจิตใจที่แท้จริง มันจะไม่กลับมาหลงผิดอีก อย่างคนไหนเป็นพระโสดาบันแล้ว รู้ความจริงแล้ว ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเราในขันธ์ 5 ไม่มีตัวเราของเราที่ไหนเลย ไม่มี พระโสดาบันภาวนาไปจนจิตเห็นความจริงอันนี้แล้ว ความรู้อันนี้ฝังลึกเข้าไปในจิตใจ ตายไปแล้วข้ามภพข้ามชาติไปแล้ว ความรู้อันนี้ก็ไม่หายไป มันฝังลงไปในจิตใจ แต่ถ้าเป็นความรู้จากการคิด การอ่าน การฟัง ไม่ทันจะแก่ก็ลืมหมดแล้ว หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 22 ตุลาคม 2566

Direct download: 661022.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

พอมันปรุงความทุกข์ เราก็เห็นมันทุกข์จริง แต่เวลามันปรุงความสุข อันนี้ดูยาก เราจะรู้สึกว่า ดีนะ มันปรุงสุข หรืออย่างเรานั่งสมาธิแล้วจิตสงบ มันปรุงความสงบขึ้นมา เราก็เห็นว่าสงบดี ฟุ้งซ่านไม่ดี อันนี้สติปัญญาของเรายังไม่แข็งแรงพอ ถ้าสติปัญญาเราแข็งแรงพอ เราก็จะเห็นไม่ว่าปรุงอะไรก็ทุกข์ทั้งนั้น คำว่าปรุงแต่ง สังขาร คำว่าภพ คำว่าการกระทำกรรมของจิต ก็คืออันเดียวกัน เรียกชื่อแตกต่างกันไป พระพุทธเจ้าท่านบอก มีภพเกิดขึ้นคราวใดก็มีทุกข์ทุกที สังขารความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไรก็เป็นทุกข์ทุกที ทีนี้เราอยู่กับความปรุงแต่งจนเคยชิน เราไม่เคยเห็นว่าจิตปรุงแต่ง เรามาหัดให้รู้เท่าทันความปรุงแต่งของจิตดู แล้ววันหนึ่งเราจะเห็น ความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไรความทุกข์เกิดขึ้นทุกที กระทั่งปรุงสุข ปรุงสุขจิตก็มีความกระเพื่อมหวั่นไหวขึ้นมา สั่นสะเทือนขึ้นมา มันก็ทุกข์ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 15 ตุลาคม 2566

Direct download: 661015.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

จะล้างความเห็นผิด ลองมาดูความจริงของร่างกายตัวเอง ดูความจริงของจิตใจตัวเอง ไม่ต้องไปดูข้างนอก เพราะข้างนอกใครๆ มันก็รู้ว่าไม่ใช่เรา ความหลงผิดมันอยู่ที่ว่า กายนี้คือเรา จิตใจนี้คือเรา เพราะฉะนั้นเราต้องดูเข้ามาตัวนี้ให้ได้ ถ้าล้างความเห็นผิดได้ว่ากายนี้เป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ เป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เห็นจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายและก็จิตใจ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เหมือนความฝัน ความสุขเกิดขึ้นก็เหมือนฝัน ความทุกข์เกิดขึ้นก็เหมือนฝัน กุศลอกุศลเกิดขึ้น มันก็เหมือนเราฝันอยู่ ฝันว่าโลภ ว่าโกรธ ว่าหลง ดูเรื่อยๆ มันจะถอนความเห็นผิดว่าจิตใจเป็นตัวเรา เพราะเราจะเห็นจิตใจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่เที่ยง เดี๋ยวจิตใจก็สุข เดี๋ยวจิตใจก็ทุกข์ เดี๋ยวจิตใจเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ เดี๋ยวจิตใจก็เป็นกุศล เดี๋ยวก็เป็นอกุศล อย่างนี้ เราเห็นว่ามันไม่เที่ยงหรอก แล้วก็เห็น แต่ละอย่างเราบังคับมันไม่ได้ เป็นของถูกรู้ถูกดู เมื่อมันเป็นของถูกรู้ถูกดู มันก็เหมือนเราเห็นคนอื่น อย่างเราเห็นร่างกายเราเป็นของถูกรู้ถูกดู มันก็เหมือนร่างกายของคนอื่น เห็นความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ก็เป็นของถูกรู้ถูกดู มันก็เหมือนความรู้สึกของคนอื่น มันไม่มีตัวเราตรงไหนเลย ทั้งในกายทั้งในใจนี้ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 14 ตุลาคม 2566

Direct download: 661014.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

พอได้หลักไหม หลักของสมถะว่าอย่างไร ตอบได้ไหม น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง เราแค่น้อมจิตไปอยู่กับอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข แต่อย่างถ้าเราไปเพ่ง เราไม่ใช่แค่ระลึกถึงอารมณ์ น้อมจิตไป แต่เอาจิตไปเพ่ง ไม่มีความสุขหรอก จะเครียดทันทีเลย จิตก็แน่นๆ บางทีเพ่งร่างกายคอเคล็ดไปเลย นั่นไม่ได้มีความสุขหรอก ถ้าไม่มีความสุข สมาธิไม่เกิดหรอก เพราะความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ ค่อยๆ ฝึก ถ้าจะทำสมถะ จะให้จิตได้พักผ่อน จะให้จิตมีเรี่ยวมีแรง เราก็ดูเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้นล่ะ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ระลึกถึงอารมณ์อันนั้นไป ให้จิตใจเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์อันนั้นไป เดี๋ยวเดียวจิตก็จะสงบตั้งมั่น มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมาได้ ค่อยๆ ฝึก หรือถ้าจะทำวิปัสสนาให้จิตรู้ความจริง เพื่อจะได้ปล่อยวางได้ ก็หลักมีนิดเดียวนั่นล่ะ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง) ไม่หนีหลักนี้หรอก ใช้วิธีไหนก็เหมือนกัน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 8 ตุลาคม 2566

Direct download: 661008.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ถ้าเราฝึกสมาธิที่ลืมเนื้อลืมตัว เราก็จะออกข้างนอก เคลิ้มไปบ้าง ลืมตัวเอง ก็เคลิ้มๆ เหมือนกับนอนหลับ หรือจิตมีนิมิตหลอนไปอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ถ้าเรามีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ หายใจเข้ารู้สึก หายใจออกรู้สึก ไม่ต้องไปตามลมอะไรหรอก ลมสั้น ลมยาว อยู่ที่จมูก มันก็รู้แล้ว จุดสำคัญคือทำไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว มีสติไว้ แล้วเวลาจิตมันรวม มันก็จะรวมลงไปด้วยความมีสติ กระทั่งโลกธาตุดับ ร่างกายหายไป ร่างกายกับโลกนี้จะหายไปพร้อมๆ กัน แล้วก็จิตไปอยู่ในความว่างๆ ก็ยังมีสติ ไม่ขาดสติตลอดสายของการปฏิบัติ นี่วิธีฝึก ฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ จะทำความสงบ ก็ต้องสงบแบบมีสติ ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ถ้าจะเจริญปัญญา ก็ต้องไม่ลืมเนื้อลืมตัว ต้องรู้ตัวไว้ รู้สึก รู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจตัวเอง อย่างเวลาเรานั่งสมาธิ บางทีร่างกายหายไป เหลือแต่จิตดวงเดียว ไม่คิดไม่นึกอะไร อันนั้นเอาไว้พักผ่อน ไม่ได้เดินปัญญา เดินปัญญา เรามีจิตที่ตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว ให้จิตมันทำงานไป อย่าไปให้จิตติดนิ่งติดว่างอยู่ ให้จิตมันทำงานไปตามธรรมชาติ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 30 กันยายน 2566

Direct download: 660930.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 8:30pm +07

เราค่อยๆ ภาวนาจนกระทั่ง จุดแรกก็คือละความเห็นผิดว่ามีตัวมีตนได้ ถัดจากนั้นก็ฝึกปฏิบัติของเราไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดความยึดถือในตัวในตน ทีแรกละความเห็นผิด ต่อไปก็ละความยึดถือได้ คนละชั้นกัน ละความเห็นผิดได้ก็เป็นพระโสดาบัน ละความยึดถือในกายได้ก็เป็นพระอนาคามี ละความยึดถือในจิตได้ก็เป็นพระอรหันต์ ที่สุดแห่งทุกข์ก็อยู่ตรงนั้น หมดความยึดถือกาย หมดความยึดถือจิต เพราะเห็นแจ้งแล้ว กายคือตัวทุกข์ จิตคือตัวทุกข์ ก่อนจะถึงจุดนั้น มันจะเห็นว่ากายเป็นที่ตั้งของความทุกข์ จิตเป็นที่ตั้งของความทุกข์ อย่างพระโสดาบัน พระสกทาคามี จะเห็นกายเป็นที่ตั้งของความทุกข์ จิตเป็นที่ตั้งของความทุกข์ พระอนาคามีเห็นกายคือตัวทุกข์ แต่จิตยังเป็นที่ตั้งของความทุกข์อยู่ ภาวนาถึงสุดขีดถึงจะรู้ว่าจิตเองก็คือตัวทุกข์ ความรู้ของธรรมะมันก็ลึกล้ำไปเป็นลำดับๆ ไม่ต้องตกใจ ค่อยๆ เรียนไปตามลำดับนี้ล่ะ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 7 ตุลาคม 2566

Direct download: 661007.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ทั้งหมดมี 10 ข้อ มีมักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความสงัด ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร 5 ข้อ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ถัดจากนั้นคือมีวิมุตติ ตัวที่เก้าคือเกิดอริยมรรคเกิดอริยผล พอเกิดอริยมรรคอริยผลแล้ว มันก็ขึ้นมาถึงตัวสุดท้าย ตัวที่สิบชื่อวิมุตติญาณทัสสนะ วิมุตติญาณทัสสนะไม่ใช่เห็นโน่นเห็นนี่ อันนั้นฟุ้งซ่าน วิมุตติญาณทัสสนะก็คือ จิตทวนกลับเข้าไปพิจารณา ว่าตอนที่เกิดอริยมรรคอริยผลนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง อริยมรรคได้ทำลายล้างกิเลสชั้นละเอียด คือตัวสังโยชน์ได้กี่ตัวแล้ว ยังเหลือกี่ตัว ทำลายไปกี่ตัว ถ้าเป็นการตัดเกิดอริยมรรคครั้งสุดท้าย เกิดอรหัตตมรรค ทวนเข้ามาไม่มีกิเลสเหลือ ไม่มีเชื้อเหลือแล้ว เรียกว่าไม่มีเชื้อที่จะเหลือ ทวนกลับมาสรุปบทเรียนทั้งหมดเลย เป็นการวัดใจตัวเองขั้นสุดท้าย ยังมีกิเลสเหลือหรือไม่มี วัดตัวเอง วิญญูชนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้คนอื่นมาวัดให้เรา เชื่อไม่ได้หรอก เชื่อถือไม่ได้ ต้องดูของเราเอง ธรรมะ 10 ประการ 5 ประการแรกเป็นการปรับเงื่อนไขในการดำรงชีวิต ที่เอื้อต่อการพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา แล้วศีล สมาธิ ปัญญาจะเกิดได้ด้วยการพัฒนาสติ ในวิธีการที่จะพัฒนาสติ คือ สติปัฏฐานนั่นเอง แล้วเราจะได้ศีล สมาธิ ปัญญา พอศีล สมาธิ ปัญญาแก่รอบ ก็จะเกิดมรรคเกิดผล เกิดวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะจะตามมาอัตโนมัติ เป็นของแถมให้ นี่องค์ธรรม 10 ประการที่พวกเราจะต้องเดิน ทำ 5 ข้อให้รอด อย่ายอมแพ้ แล้วก็มีสติรักษาจิตไว้ แล้วศีลเราจะดี สมาธิเราจะดี ปัญญาเราจะเกิด มีสติรักษาจิตไว้ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 1 ตุลาคม 2566

Direct download: 661001.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ถ้ามีสติอยู่กับร่างกาย รู้สึกไป ไม่นานเราก็จะเห็นความทุกข์ ร่างกายมีแต่ทุกข์ มีสติรู้สึกจิตไปเรื่อยๆ ไม่นานเราก็จะรู้สึกว่าจิตนั้นก็เป็นตัวทุกข์ มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เฝ้ารู้เฝ้าดู ถ้ารู้ทุกข์เมื่อไร ก็เป็นอันละสมุทัยเมื่อนั้น เรายึดกายมากเพราะเราเห็นว่ากายเป็นตัวสุข เป็นตัวดี พอเรามีสติรู้สึกอยู่ในกายเนืองๆ กายนี้เป็นตัวทุกข์ ความรักใคร่หวงแหนในร่างกายก็จะลดลง จนกระทั่งวันหนึ่งมันไม่ยึดถือในร่างกาย ต่อไปก็ดูจิตใจไป เห็นจิตใจเป็นตัวทุกข์ เรียกรู้ทุกข์ มันก็ละสมุทัย ละความรักใคร่หวงแหนในจิตใจ ก็วางตรงที่วางนั่นล่ะคือตัวนิโรธ ปล่อยวางได้ ถ้าเห็นว่ากายนี้ใจนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย มันก็จะวางแล้วล่ะ มันก็จะละสมุทัยได้ ละความรักใคร่หวงแหนในร่างกายจิตใจได้ ก็ปล่อยวางได้ ก็จะเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าสอนธรรมะมาตั้งมากมายก็เพื่อมาสู่จุดนี้ สอนเราจนกระทั่งเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ที่ทุกข์ก็เพราะยึด ที่เข้าไปยึดก็เพราะอยาก ที่อยากก็เพราะโง่ ไม่เห็นทุกข์ ก็แค่นั้นล่ะ คำว่าอวิชชาๆ คือโง่ ไม่รู้ทุกข์ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 24 กันยายน 2566

Direct download: 660924.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ถ้าเรามีสติปัญญา เราเห็นจิตมันขาดออกจากกัน เหมือนเราเห็นฟิล์มหนัง รูปแต่ละรูปของฟิล์มหนัง มันคนละรูปกัน แต่ว่าพอเอามาเข้าเครื่อง มันก็เกิดภาพลวงตา มีตัวละครอยู่ตัวเดียวนี้ล่ะ เคลื่อนไหวไปมาได้ อันนี้เพราะว่ามันเกิดสันตติ คือความสืบต่อสืบเนื่อง เอารูปมาเรียงๆๆ กัน ต่อกันอย่างรวดเร็ว ก็เลยรู้สึกว่ามีตัวตนขึ้นมา ตัวตนนี้ล่ะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง อันนี้เวลาเราหัดดูจิตดูใจ ทีแรกเราก็จะเห็นจิตมีดวงเดียว เดี๋ยวก็วิ่งไปทางตา แล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปทางหูแล้วก็วิ่งกลับมา อันนี้สันตติยังไม่ขาด ยังไม่ขึ้นวิปัสสนาหรอก ไม่ใช่วิปัสสนา เรามีสติเห็นตัวสภาวะ เห็นจิต แต่เราไม่มีปัญญา ที่จะแยกว่าจิตที่เกิดขึ้นนี้ มันเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว สันตติขาด เราก็จะรู้ว่าจริงๆ จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดวงใหม่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดวงที่ใหม่กว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เราจะเห็นมันเกิดดับๆๆ สืบเนื่องกัน ตัวนี้เรียกว่าเห็นอนิจจังของจิต แล้วมันก็ทำลายภาพลวงตา ที่เดิมเราคิดว่า โอ๊ย จิตมีดวงเดียว จิตคือตัวเราวิ่งไปวิ่งมา ออกไปเสพอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คราวนี้พอมันขาดออกเป็นตัวๆ ไป เป็นดวงๆ ไป เราจะพบว่ามันไม่ใช่ตัวเรา มันมีแต่ของที่เกิดแล้วดับ ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน เป็นอมตะ ถาวร ตรงนี้เป็นปัญญาชั้นละเอียดของเราชาวพุทธ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 23 กันยายน 2566

Direct download: 660923.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

Direct download: 660920.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ถ้าเราภาวนา เดินอยู่ในแนวทางอย่างที่หลวงพ่อบอก ทีแรกฝึกให้จิตตั้งมั่นและก็เป็นกลางด้วยสติ ทำกรรมฐานไปแล้วมีสติรู้ทันจิตไป รู้ทันใน 2 ระดับ อันแรกรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้น อันที่สอง รู้ทันความยินดียินร้ายของจิต จิตจะตั้งมั่นและเป็นกลาง เราจะได้สัมมาสมาธิที่เต็มที่แล้ว ถัดจากนั้นเราเจริญปัญญา สติระลึกรู้กายด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง สติระลึกรู้เวทนาด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง สติระลึกรู้สังขารด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง สติระลึกรู้จิตด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ต่อไปมันก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ไม่ได้น่ารักน่าหวงแหน ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งสุขและทุกข์ ทั้งดีและชั่วเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ พอมันยอมรับว่าทุกอย่างเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ จิตจะยุติการดิ้นรนทันทีเลย เรียกยุติสังขารหรือยุติการสร้างภพ สังขารในใจเราคือภพ เรียกว่าภพ เรียกว่ากรรมภพ พอไม่มีความดิ้นรนอันนี้ จิตก็หมดภาระ จิตก็เป็นอิสระต่อสังขาร จิตที่เป็นอิสระต่อสังขาร เรียกว่าวิสังขาร จิตที่ไม่หลงตามกิเลสตัณหาทั้งหลาย เรียกว่าวิราคะ วิราคะก็ชื่อของนิพพาน วิสังขารก็ชื่อของนิพพาน วิมุตติ จิตหมดความยึดถือในรูปนาม ก็เป็นความหมายของนิพพานนั่นเอง ฉะนั้นเมื่อไรจิตเราสิ้นตัณหาเมื่อนั้นเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตเราพ้นจากความปรุงแต่ง จิตเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตปล่อยวางรูปนามขันธ์ 5 ได้หมด ปล่อยวางจิตได้ จิตก็สัมผัสพระนิพพาน ฉะนั้นค่อยๆ ภาวนา เบื้องต้นก็เป็นกลางด้วยสติ ได้สมาธิเกิดขึ้น เบื้องปลายเป็นกลางด้วยปัญญา ก็จะได้วิมุตติ ได้ความหลุดพ้น หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช 17 กันยายน 2566

Direct download: 660917.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 4:00pm +07

เวลาเราภาวนาแล้วจิตเราไม่สงบ เราพยายามจะให้สงบ ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ มันยิ่งฟุ้งซ่าน ตรงที่อยากทำแล้วก็ดิ้นรนทำ จะทำให้ฟุ้งซ่านมากขึ้น แต่ถ้าเราตัดที่ต้นตอของมัน เรารู้ จิตฟุ้งซ่านเราไม่ชอบ รู้ว่าไม่ชอบ ความไม่ชอบดับ จิตเป็นกลาง พอจิตเป็นกลาง ความฟุ้งซ่านทนอยู่ไม่ได้ มันดับขาดสะบั้นทันทีเลย พอจิตเป็นกลางได้ มันตั้งมั่นอัตโนมัติอยู่แล้ว มันตั้งมั่น มันเป็นกลางขึ้นมา ก็เอื้อให้เกิดปัญญา ปัญญาทำหน้าที่ตัดสิ่งที่ไม่ดีออกไป อย่างความฟุ้งซ่านอย่างนี้ พอความฟุ้งซ่านเกิด สติรู้ทัน จิตตั้งมั่น จิตเป็นกลาง จะเกิดปัญญา ปัญญาก็ตัดความฟุ้งซ่านขาดสะบั้นออกไป จิตก็ตั้งมั่น สงบ เด่นดวงอยู่ เพราะฉะนั้นไม่ต้องพยายามทำจิตให้สงบ ไม่ต้องทำจิตให้ตั้งมั่น ให้รู้ทันเวลามันไม่สงบ เวลามันไม่ตั้งมั่น พอรู้ทันแล้วสังเกตลงไป จิตยินดีให้รู้ทัน จิตยินร้ายให้รู้ทัน ถ้าเราถอดถอนความยินดียินร้ายเสียได้ ความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตมันก็หยุด จิตมันก็สงบ ตั้งมั่น เด่นดวง เป็นกลาง ง่าย ง่ายมาก แต่ถ้าเราไม่รู้วิธี โอ๊ย ยาก อย่างจิตเราฟุ้งซ่าน ไปนั่งสมาธิไปเดินจงกรม เมื่อไรมันจะสงบ เขาฝึกสมาธิก็ฝึกกันเป็นสิบๆ ปี ถึงจะชำนิชำนาญ ไม่ทันกิเลสของคนรุ่นนี้ ฉะนั้นอาศัยสติรู้ทันลงไป จิตฟุ้งซ่าน รู้ทัน จิตยินร้ายต่อความฟุ้งซ่าน รู้ทัน แล้วจิตจะสงบเอง ตั้งมั่นเอง อันนี้คือการใช้ปัญญานำสมาธิ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 16 กันยายน 2566

Direct download: 660916.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ธาตุดินไม่มีกิเลส เอาของสกปรกไปเทใส่ดิน ดินก็ไม่ว่าอะไร เอาน้ำหอมไปพรมใส่ดิน ดินก็ไม่ชื่นชมอะไร ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน เอาน้ำหอมไปใส่มัน มันก็ไม่ได้ชื่นชมอะไร คนที่ชื่นชมคือจิต เพราะฉะนั้นถ้าเรามองเห็นร่างกายเป็นเพียงธาตุดิน ไม่มีกิเลสในธาตุดิน ไม่มีความยินดียินร้าย ในธาตุดิน ในธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟก็เหมือนกัน ธาตุแต่ละธาตุนั้นไม่ได้มีกิเลส ไม่มีกิเลส แล้วก็ไม่มีเจ้าของด้วย ไม่ใช่ของเรา มันเป็นสมบัติของโลก ธาตุอีกตัวหนึ่ง ธาตุตัวที่ห้าคือ space อากาศธาตุ ช่องว่าง พวกเราดูไม่ค่อยได้หรอก ถ้าทรงสมาธิอยู่ ถึงจะพอดูได้ ธาตุ 4 ตั้งอยู่อย่างนี้ได้ เพราะมันจุอยู่ในช่องว่าง ช่องว่างเอง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เหมือนกัน ไม่มีกุศล อกุศลในช่องว่างนี้ เหมือนกัน เพราะฉะนั้นดิน น้ำ ไฟ ลม ในช่องว่าง ไม่มีกุศล อกุศล เป็นของธรรมชาติ ธรรมดา ไม่มีเจ้าเข้าเจ้าของ ธาตุไม่ได้มีแค่ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศธาตุ ยังมีวิญญาณธาตุอีกตัวหนึ่ง วิญญาณธาตุของสัตว์ทั้งหลาย ไม่ได้สะอาดเหมือนดิน น้ำ ไฟ ลม แต่มันปนเปื้อนด้วยความปรุงแต่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันปนเปื้อนด้วยกิเลส ฉะนั้นเราก็จะค่อยภาวนา เพื่อซักฟอกจนกระทั่งธาตุวิญญาณธาตุนี้ เข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น หลุดพ้นจากความยึดมั่น ถือมั่นในสังขารทั้งปวง หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งปวง หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 10 กันยายน 2566

Direct download: 660910.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

การที่เราอ่านจิตตนเอง ไม่ใช่แค่จะได้สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ไม่ได้แค่สัมมาวายามะ แต่สติของเราจะเข้มแข็งมากขึ้นๆ ทีแรกต้องโกรธแรงๆ ถึงจะรู้ ต่อไปขัดใจเล็กๆ ก็เห็นแล้ว สติเราพัฒนาแล้ว ทีแรกต้องมีราคะรุนแรงถึงจะรู้ ต่อไปใจโลภนิดเดียว แค่อยากเห็นรูป ก็เห็นแล้ว อย่างเรานั่งอยู่ ได้ยินเสียงอะไรแว่วๆ เราอยากฟัง อยากหันหน้าไปดู เราก็รู้ทัน เรารู้ได้ละเอียดขึ้นๆ สติเราเร็วขึ้นๆ นั่นล่ะเป็นสัมมาสติ สามารถระลึกได้โดยที่ไม่ได้เจตนาระลึก ถ้าจงใจระลึกมันเจือด้วยโลภเจตนา สติตัวจริงไม่เกิดหรอก เพราะสติไม่เกิดร่วมกับอกุศล เพราะฉะนั้นเราจงใจให้มีสติ ตั้งใจให้มีสติ สติจะไม่เกิด สติเกิดจากเราคอยดูสภาวะไปเรื่อยๆ จิตจำสภาวะได้แล้วสติเกิดเอง อย่างเราไปเห็นโกรธบ่อยๆ ต่อไปพอโกรธปุ๊บ สติเกิดเองเลย รู้ทันว่าตอนนี้โกรธแล้ว รู้ทันว่าโลภแล้ว รู้ทันว่าหลงแล้ว รู้ทันว่าอยากขยับตัวแล้ว รู้ทันว่าอยากโน้นอยากนี้แล้ว คอยรู้ทัน นี้สติ ทุกครั้งที่สติเกิด สัมมาสติเกิด สัมมาสมาธิจะเกิดร่วมด้วยเสมอ หลวงพ่อเริ่มที่เข้าใจสิ่งต่างๆ ขึ้นมานี้ เริ่มมาจากประโยคเดียว “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” เห็นไหม การอ่านจิตตนเองครอบคลุมองค์มรรคทั้ง 8 ได้ การอ่านจิตตนเองนั้น คือการเรียนรู้ทุกข์นั่นเอง รู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไรก็ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคอัตโนมัติ ไปฝึกเอา ไปทำเอา ไม่มีใครช่วยใครได้หรอก หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 9 กันยายน 2566

Direct download: 660909.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

1 « Previous 1 2 3 4 5 6 7 Next » 68