ถ้าเรายังไปปรุงแต่งจิตให้วิเศษแค่ไหน มันก็ยังเป็นของเก๊อยู่ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะภาวนา อย่ามัวแต่นั่งปรุงแต่งจิต ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็นไป มันก็จะอยู่ในหลักของคำว่ารู้ทุกข์ ละสมุทัย สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ 5 คือรูปนาม คือกายคือใจของเรานี้ล่ะ เราต้องรู้มัน ไม่ใช่ทิ้งมัน แล้วไปอยู่ในความว่าง เวลาที่เราจะรู้กายรู้ใจ เรามีสติรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ มีสติเห็นร่างกายนี้ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตใจก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แล้วก็มีปัญญาเห็นว่าร่างกายและก็จิต ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สติเป็นตัวรู้สภาวะ สภาวะคือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ปัญญาเป็นตัวเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม ฉะนั้นต้องเดินให้ถูกหลัก คำว่า “ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ” นี่เป็นกฎของการปฏิบัติ เป็นแม่บทใหญ่อยู่ในอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 ข้อคือ ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละ นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา อริยมรรคก็เกิดขึ้น หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 9 มีนาคม 2567

Direct download: 670309.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ธรรมะคือความจริง ความจริงขั้นที่หนึ่งก็คือ ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาสู่ความรับรู้ของเรา อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับทั้งสิ้น ความจริงระดับกลางก็คือ ร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีหรอก ร่างกายนี้คือทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ความจริงขั้นสูงก็คือ จิตใจนั่นล่ะมีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ตรงที่เห็นทุกข์เรียกว่าเรารู้ทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง กายนี้ทุกข์ ใจนี้ทุกข์ ความยึดถือในกายในใจก็ไม่มี ความอยากให้กายให้ใจเป็นสุข ความอยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ ก็ไม่มี นี่รู้ทุกข์ก็ละความอยากได้ เรียกรู้ทุกข์แล้วละสมุทัยได้ ทันทีที่เราละความอยากออกจากจิตได้ นิโรธคือภาวะที่พ้นจากความดิ้นรนปรุงแต่ง พ้นจากความอยากคือพระนิพพาน จะปรากฏขึ้นให้เรารับรู้ นิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหาสิ้นความอยาก มันสิ้นความอยากได้เพราะมันรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง การรู้ทุกข์ก็คือการรู้ความจริงของกายของใจอย่างแจ่มแจ้ง ก็จะละความอยากได้ ทันทีที่จิตหมดความอยาก จิตเข้าถึงความสงบสุข ความสงบสุขนั่นล่ะคือสภาวะของนิพพาน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 6 มีนาคม 2567

Direct download: 670306.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

Direct download: 660924_VT2_.mp3
Category:short clips -- posted at: 6:00pm +07

Direct download: 660924_VT1_.mp3
Category:short clips -- posted at: 8:00am +07

เรียนธรรมะ เราฟังหรือเราอ่านพอให้รู้วิธีปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ช่วยเราได้แค่นั้น ให้เรารู้วิธีปฏิบัติ ถัดจากนั้นเราก็ต้องลงมือทำด้วยตัวเอง ทำไปแล้วมีปัญหาติดขัดอะไร ก็ถามครูบาอาจารย์ ไม่ใช่นั่งคิดไปเรื่อยๆ ฟังแล้วก็คิดไปๆ หวังว่าวันหนึ่งจะเข้าใจธรรมะ ธรรมะเข้าใจไม่ได้ด้วยการคิดเอาหรอก ต้องลงมือเจริญสติ จุดอ่อนของปัญญา ก็คือคิดมาก หลายคนหลวงพ่อสอนให้รู้สึกตัว ให้ดูกายดูใจ เขาบอกเขายังดูไม่ได้ ต้องคิดไว้ก่อน เออ ก็คิดไป ชาตินี้คิด ชาติหน้าก็ไปคิดต่อ ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิดเอา เรียนด้วยการรู้สึก รู้สึกกาย รู้สึกใจ ดูกายหายใจออก หายใจเข้า ก็เห็นร่างกายหายใจออกหายใจเข้า ไม่ใช่เราหายใจออก ไม่ใช่เราหายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เราก็เห็นร่างกายมันยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เรายืน เดิน นั่ง นอน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 3 มีนาคม 2567

Direct download: 670303.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

Direct download: 660923_VT2_.mp3
Category:short clips -- posted at: 6:00pm +07

Direct download: 660923_VT1_.mp3
Category:short clips -- posted at: 8:00am +07

ก่อนที่จะเห็นไตรลักษณ์ได้ ก็ต้องเห็นลักษณะแต่ละตัวๆ จะเห็นว่าสภาวะแต่ละตัวเกิดแล้วดับ สภาวะแต่ละตัวเกิดแล้วดับ เห็นซ้ำๆๆ ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง ล้านครั้ง แล้วแต่ความดื้อของจิต บางคนเห็น 2 - 3 ที จิตเข้าใจแล้ว ยอมรับความจริงแล้ว เออ ทุกอย่างเกิดแล้วดับ เป็นพระโสดาบัน บางคนดูตั้งล้านครั้งแล้วถึงจะเห็น เพราะจิตมันสะสมปัญญามาน้อยหน่อย เพราะฉะนั้นลักษณะ 2 ประการนี้ ทำความรู้จักไว้ สภาวธรรมทั้งหลายมีลักษณะ 2 ประการ คือลักษณะเฉพาะตัว ทำให้ตัวมันแตกต่างกับสภาวะอันอื่น ทำให้เราเห็นได้ว่า ตอนนี้ตัวนี้เกิด ตอนนี้ตัวนี้ดับ มันจะเห็นได้ อีกอันหนึ่งคือลักษณะร่วมคือไตรลักษณ์ อันนั้นเป็นปัญญารวบยอดแล้ว เกิดจากการเห็นแต่ละตัวๆ เกิดดับ สุดท้ายจิตมันสรุป จิตสรุปไม่ใช่เราสรุป ถ้าให้เราสรุป เราสรุปกันตอนนี้เลยว่า สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นดับ แล้วเราก็เป็นปุถุชนเหมือนเดิม ต้องให้จิตมันสรุปเอง ถ้าไปคิดนำ มันก็ไม่ได้เรื่องหรอก หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 2 มีนาคม 2567

Direct download: 670302.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

Direct download: 660917_VQ_.mp3
Category:short clips -- posted at: 8:00am +07

Direct download: 660917_VT2_.mp3
Category:short clips -- posted at: 6:00pm +07

Direct download: 660917_VT1_.mp3
Category:short clips -- posted at: 8:00am +07

Direct download: 660916_VT2_.mp3
Category:short clips -- posted at: 6:00pm +07

Direct download: 660916_VT1_.mp3
Category:short clips -- posted at: 8:00am +07

Direct download: 660910_VQ__.mp3
Category:short clips -- posted at: 8:00am +07

สิ่งสำคัญที่เราต้องฝึกให้ได้ ถ้าเราไม่ได้สิ่งนี้เราปฏิบัติไม่ได้ ไม่ว่าจะทำสมถะหรือทำวิปัสสนา ก็ขาดสภาวะอันนี้ไม่ได้ คือสติ สติสำคัญที่สุด ขาดสติก็คือไม่ได้ปฏิบัติ สมถะก็ไม่มี วิปัสสนาก็ทำไม่ได้ สติมันเป็นตัวที่คอยรู้เท่าทัน มันรู้อะไร มันรู้ว่าร่างกายเรามีอยู่ ร่างกายเราเคลื่อนไหว มันรู้ว่าจิตใจเรามีอยู่ จิตใจเราเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง สติจะเป็นตัวคอยรู้ทันความมีอยู่ของร่างกายจิตใจ รู้ทันความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวของร่างกายจิตใจ สติถ้าเกิดขึ้นแล้วมันจะทำหน้าที่รักษาจิตใจของเรา ทันทีที่สติที่แท้จริงเกิดขึ้น อกุศลที่เคยมีอยู่จะดับทันที อกุศลใหม่จะเกิดไม่ได้ในขณะที่เรามีสติ ขณะที่เรามีสติจิตเราเป็นกุศลเรียบร้อยแล้ว แล้วถ้าสติยิ่งเกิดบ่อย กุศลของเราก็จะยิ่งมากขึ้นๆ พัฒนาเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ขาดสติจริงๆ ก็ไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ฉะนั้นสติเป็นองค์ธรรมสำคัญที่ขาดไม่ได้ สติเป็นอนัตตา สั่งให้เกิดไม่ได้ เราจะต้องดูว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดสติ ให้สติเกิดบ่อยๆ สตินั้นมีการที่จิตจำสภาวธรรมได้แม่น เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ถ้าเรารู้จักสภาวธรรมแล้วจำตัวไหนได้แม่นๆ สติจะเกิด สิ่งที่เรียกสภาวธรรมก็มีรูปธรรมกับนามธรรม อย่างร่างกายเรานี่เป็นส่วนของรูปธรรม จิตใจเราเป็นส่วนของนามธรรม ถ้าเรามองคำสอนของพระพุทธเจ้า มีคำสอนสำคัญอันหนึ่งคือเรื่องสติปัฏฐาน สติปัฏฐานเป็นหลักสูตรในการฝึกให้เรามีสติ เราก็ต้องคอยรู้ที่พระพุทธเจ้าท่านสอน รู้ร่างกายนี้เป็นส่วนของรูปธรรม รู้ความรู้สึกสุขทุกข์อันนี้เป็นส่วนของนามธรรม รู้ความเป็นกุศลเป็นอกุศลของจิตนี่ก็เป็นนามธรรม รู้ธรรมะอันนี้มีทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม เห็นกระบวนการทำงานของจิตใจ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 26 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670226.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

Direct download: 660910_VT2__.mp3
Category:short clips -- posted at: 6:00pm +07

Direct download: 660910_VT1_.mp3
Category:short clips -- posted at: 8:00am +07

โลกไม่มีอะไร โลกเป็นแค่ความปรุงแต่ง หรือเรียกว่าสังขตธรรม เรียกง่ายๆ ว่าสังขาร สังขารมีหลายความหมาย สังขารขันธ์หมายถึงความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่วของจิต สังขารในภาพใหญ่หมายถึงกายใจของเรา รูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น อันนี้เรียกว่าสังขาร ภาวนาไปก็จะเห็นสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อันใหม่ก็เกิดขึ้นมาทดแทน พอจิตเราตั้งมั่น เราจะเห็นเลยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณคือตัวจิต เกิดขึ้นแล้วดับไป มีขึ้นแล้วก็หายไป ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม ทั้งกายทั้งใจ เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีแล้วก็หายไป อันใหม่ก็เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับๆ ไปเรื่อย ไม่พ้นทุกข์ พอเกิดแล้วค่อยดับ ดับแล้วยังเกิดอีก เวียนไปไม่จบ ถ้าเรารู้โลกแจ่มแจ้ง โลกนี้ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม ไม่มีอะไรเลยนอกจากทุกข์ รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ขันธ์ 5 เกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นอย่างนี้ จิตมันจะปล่อยวางรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วจิตมันจะเข้าถึง สภาวธรรมที่พ้นความปรุงแต่ง คืออสังขตธรรม สังขารทั้งหลายสงบเสียได้เป็นสุข สังขารคือรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น คือกายคือใจทั้งหมดทั้งสิ้นนี่ล่ะ มันเกิดดับๆ พอสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ทุกอย่างที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น จิตก็ปล่อย จิตมันปล่อย จิตก็พ้นจากความปรุงแต่ง หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 25 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670225.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

Direct download: 660909_VQ_.mp3
Category:short clips -- posted at: 6:00pm +07

วิธีที่เราจะปลดปล่อยใจของเราให้พ้นจากอาสวกิเลสได้ พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้ภาวนาไป เจริญสติปัฏฐานนี่ล่ะ จนกระทั่งจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะความไม่ถือมั่น คีย์เวิร์ดมันอยู่ตรงที่ “ไม่ถือมั่น” เพราะฉะนั้นคำว่า “ไม่ถือมั่น” ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น มันจะเป็นหัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นในขันธ์ 5 ในกายในใจของเราได้ โดยเฉพาะไม่ยึดมั่นในจิตได้ เราก็ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ก็คือการที่เราเห็นความจริงของจิตใจตัวเอง เราจะเห็นความจริงของจิตใจตัวเองได้ เราก็อย่าไปคิดเอาว่าจิตเป็นอย่างไร แล้วก็อย่าไปแทรกแซง อย่าไปบังคับจิต ให้รู้สึกเอา จิตของเราสุขให้รู้ จิตของเราทุกข์ให้รู้ จิตเป็นกุศลให้รู้ จิตโลภ โกรธ หลงอะไร ให้รู้ ตามรู้ตามเห็นไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเห็นความจริงอันหนึ่งก็คือเห็นไตรลักษณ์ บางท่านภาวนาก็เห็นขันธ์ 5 ไม่เที่ยง บางท่านเห็นว่ามันเป็นทุกข์ คือถูกบีบคั้นให้แตกสลาย บางท่านเห็นมันเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ขันธ์ 5 ก็เป็นแค่สภาวธรรมเท่านั้นเอง เป็นสิ่งที่มีอยู่ แต่ว่ามีเหตุให้เกิดขึ้นมา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 24 กุมภาพันธ์ 2567 (ช่วงบ่าย)

Direct download: 670224B.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

วัดที่ใจของเรานี้ ตาเห็นรูป ใจเราเปลี่ยนแปลง เราเห็นขณะที่มันเปลี่ยนแปลงไป นี่ล่ะปัจจุบันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่เมื่อวานจิตเป็นอย่างนี้ วันนี้จิตเป็นอย่างนี้ อันนี้คิดเอา ไม่ได้เห็นเอา ไม่ใช่ทัสสนะ ไม่เกิดญาณทัสสนะ แต่เกิดการคิด คิดเอา เมื่อวานกับวันนี้ไม่เหมือนกัน แสดงว่าไม่เที่ยง อันนี้ยังไม่ใช่วิปัสสนา วิปัสสนาต้องใช้ทัสสนะ ใช้การเห็นเอา เห็นรูปเห็นนามอย่างที่เขาเป็น เขาเป็นอะไร เขาเป็นไตรลักษณ์ ตาเห็นรูป ใจเรามีความสุข ใจเราเกิดราคะ เรารู้ทัน อย่างนี้เรียกว่าเรารู้ปัจจุบันแล้ว หูได้ยินเสียง ใจเรามีความทุกข์ ใจเราเกิดโทสะ เรารู้ทัน มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจก็รู้ มีโทสะในใจเกิดขึ้นก็รู้ นี่เรียกเรารู้ปัจจุบันแล้ว คอยวัดใจตัวเองไปเรื่อยๆ ใจเรามีแต่ความเปลี่ยนแปลง ไม่มีความคงที่ แล้วไม่ต้องไปฝึกให้ใจคงที่ ใจจริงๆ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็ไม่ว่ามัน ให้มันเคลื่อนไหวไป ขอแค่มีสติตามรู้ตามเห็น แล้วต่อไปปัญญามันเกิด จะรู้เลย จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว เกิดแล้วดับ ทีแรกก็เห็นแต่ละอย่างเกิดแล้วดับ แต่ละอย่างเกิดแล้วดับ ตอนที่จะได้มรรคได้ผล มีปัญญารวบยอด จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ ไม่ใช่จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง เกิดแล้วดับ เหมือนที่ตอนที่ฝึกหรอก มันรู้ว่าทุกสิ่งที่เกิดมันดับทั้งสิ้น ค่อยๆ ฝึก วัดใจตัวเองให้ออก แล้วเราจะได้ของดีของวิเศษ ของดีของวิเศษไปขอใครไม่ได้ ต้องทำเอาเอง หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 24 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670224A.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

Direct download: 660908_VT2_.mp3
Category:short clips -- posted at: 6:00pm +07

Direct download: 660908_VT1_.mp3
Category:short clips -- posted at: 8:00am +07

คำสอนของพระพุทธเจ้า จะอยู่ในกฎของคำว่า ให้รู้ทุกข์ ให้รู้ทุกข์ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น รู้ไปเรื่อยๆ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน คอยรู้สึกตัวไว้ ร่างกายที่ทำไมต้องยืน ต้องเดิน ต้องนั่ง ต้องนอน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องหายใจเข้า ต้องหายใจออก ทำไมมันต้องกินข้าว ทำไมมันต้องขับถ่าย ทำไมมันต้องดื่มน้ำ ทำไมต้องปัสสาวะ เพื่อหนีทุกข์ไปเรื่อยๆ เพราะในความเป็นจริงแล้ว มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา จิตใจเที่ยวแสวงหาความสุข ก็เพราะว่าอยากหนีทุกข์ ความเป็นจริงก็คือจิตใจมันไม่เคยให้ความอิ่มความเต็มกับเราหรอก มันขาดมันบกพร่องอยู่ตลอดเวลา ความหิวในใจเราไม่รู้จักสิ้นสุด ที่มันหิว มันหิวอะไร มันอยากให้กายให้ใจเป็นสุข มันอยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ ความอยากทั้งหลายที่เรามี มันก็ลงมาอยู่ รวมลงมาตรงที่อยากให้กายให้ใจมีความสุข อยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ แต่ถ้าเราเห็นความจริง กายนี้คือทุกข์ ใจนี้คือทุกข์ ไม่ใช่ของวิเศษหรอก เราอาศัยมันชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ยึดถือ เราก็จะไม่ทุกข์เพราะกายเพราะใจ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 19 กุมภาพันธ์ 2567

Direct download: 670219.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

Direct download: 660903_VT2__2_.mp3
Category:short clips -- posted at: 6:00pm +07

1 « Previous 1 2 3 4 5 6 7 Next » 97