แก่นของการปฏิบัติคือจิตนี้เอง เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานอย่างหนึ่งไป สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่คอยรู้ทันจิตตนเองไป จิตที่ไม่สงบ ก็คือจิตที่มันไหลไปทางอารมณ์ต่างๆ ไหลไปคิด ไหลไปจมอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ซื่อบื้ออยู่อย่างนั้น ไม่สงบจริง แต่ตรงที่เรารู้ว่าจิตเคลื่อน ตรงนั้นล่ะความสงบจะเกิดขึ้นนิดหนึ่ง ชั่วขณะเท่านั้น ทำบ่อยๆ จนกระทั่งความรู้ตัวถี่ยิบขึ้นมาเลย หลวงพ่อสอนวิธีนี้ เพราะพวกเราทำฌานไม่ได้ สะสมสมาธิเป็นขณะๆๆ ไป พอมันมีกำลังมากแล้ว มันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มันเหมือนจิตที่ทรงอุปจารสมาธิได้ มันทรงตัวเด่นดวงขึ้นมา จากจุดเล็กๆ เหมือนน้ำหยดใส่ตุ่มทีละหยดๆ น้ำก็เต็มตุ่มขึ้นมา จิตก็มีกำลัง ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา ตรงนี้เราเอาไปเดินปัญญาได้แล้ว ถ้าจิตยังไม่ตั้งมั่น อย่าพูดเรื่องเดินปัญญา ทำไม่ได้หรอก จิตยังไหลไปไหลมา หรืออ่อนแอปวกเปียก ไม่ได้เรื่องหรอก เพราะฉะนั้นเราอย่าละเลยที่หลวงพ่อบอก ทุกวันต้องไปทำกรรมฐาน แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง จิตไหลไปคิด รู้ทัน จิตไหลไปเพ่ง รู้ทัน ในที่สุดเราจะได้จิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 22 ตุลาคม 2565

Direct download: 651022.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

บุญอะไรหลวงพ่อก็ไม่ได้ขวาง พวกเราจะทอดกฐิน ทำบุญทำทานอะไร ทำไปเถอะ มันเป็นเครื่องอาศัยเวลาเราอยู่กับโลก บางคนร้องขอโดยตัวเองไม่มีต้นทุน ไม่มีใครช่วยได้หรอก นี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมจัดทอดกฐิน ไม่ทอดได้ไหม ไม่ทอดก็ได้ๆ ไม่ได้อยากได้เงินได้ทองอะไร แต่ทอดแล้วพวกเราได้ประโยชน์ คนจำนวนมากได้ประโยชน์ แล้วเวลาที่เข้ามาที่วัดที่นี่ ไม่ใช่ทอดกฐินอย่างเดียว หลวงพ่อฉวยโอกาสที่พวกเรามาทอดกฐิน พูดธรรมะให้ฟัง ก็เป็นประโยชน์อันที่สองที่พวกเราจะได้ คือนอกจากได้บุญแล้วยังจะได้ปัญญาไปด้วย รู้จักดำรงชีวิตอย่างมีเหตุมีผล พอเหมาะพอควร รู้จักการพัฒนาจิตใจตัวเองให้สูงขึ้นๆ ทำสิ่งที่เป็นบุญไว้ แล้วทำให้มันเกิดเป็นกุศลเข้ามา อยากเป็นกุศลก็ต้องฉลาด ลดละตัวตนลงไปเรื่อยๆ มีสติมีปัญญา นั่นล่ะถึงจะเป็นกุศล ลำพังการทำความดีเขาเรียกว่าบุญ ทำแล้วสบายใจ แต่ทำกุศล ทำแล้วพ้นทุกข์ สะสมความรู้ถูกความเข้าใจถูกไป หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 16 ตุลาคม 2565

Direct download: 651016.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ไม่ว่าเราทำอะไร ทำบุญ ไปดูบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ แล้วก็ไปสำรวจใจลงไปอีกชั้นหนึ่ง สิ่งที่เราทำบุญนั้น เราทำไปแล้วสติเราดีไหม ทำไปแล้วกุศลเราเจริญขึ้นหรือเปล่า ลดละกิเลสไหม หรือว่าทำไปแล้วพอกพูนกิเลส พอกพูนความเห็นแก่ตัว อย่างนั้นไม่ทำเสียดีกว่า เพราะฉะนั้นสำรวจตัวเอง เราจะทำบุญ ทำทาน ทำด้วยความฉลาด ทำแล้วก็จิตใจต้องเจริญขึ้น ต้องมีสติ ต้องมีจิตใจที่มั่นคง มีสมาธิ รู้เหตุรู้ผล อะไรควร อะไรไม่ควร เราถึงจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง ไม่อย่างนั้นเราก็เป็นพุทธแต่เปลือก เอาสิ่งที่หลวงพ่อสอนนี้ไปดำรงชีวิตจริงๆ เถอะ ความดีมีตั้งเยอะตั้งแยะ ไปทำเสีย แล้วทำอย่างฉลาด ทำแล้วยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 15 ตุลาคม 2565

Direct download: 651015.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

งานพัฒนาจิตมี 3 งาน อันที่หนึ่งฝึกจิตใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว อันที่สองแยกขันธ์ให้ได้ อันที่สามเห็นขันธ์แต่ละขันธ์ เห็นสภาวะแต่ละสภาวะตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ดูสิมันจะโง่จนไม่ได้มรรคได้ผลเชียวหรือ ถ้าทำแบบนี้ไม่ได้ ชาตินี้ไม่ได้ชาติต่อไปก็ง่ายๆ แล้ว ไม่ใช่ทุกคนจะได้ หลวงพ่อไม่ได้ชี้ขาดว่าทุกคนจะต้องได้ในชาตินี้ แต่ถ้าเราทำไม่เลิก แล้วเราไม่ได้มีวิบากอะไรรุนแรง วันหนึ่งเราก็ต้องได้ เพราะฉะนั้นทำ 3 ข้อนี้ให้ได้ คืองานพัฒนาจิต ถ้าพูดเทียบกับปริยัติ อันแรกก็คือ การพัฒนาสัมมาสมาธิขึ้นมา งานที่สองคือ การเจริญปัญญาเบื้องต้น อันที่สามคือ การเจริญให้เกิดวิปัสสนาปัญญา โสดาบันไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องยากเลย รักษาศีล 5 ให้ดี แล้วก็ทำอย่างที่หลวงพ่อบอก ฝึกจิตใจให้มันรู้เนื้อรู้ตัวไว้ แล้วก็แยกขันธ์ กายส่วนกาย จิตส่วนจิต เป็นคนละส่วน เห็นแค่ว่าเป็นคนละส่วน กายก็อย่างหนึ่ง จิตก็อย่างหนึ่ง ไม่ได้ถอดจิตออกจากร่าง อยู่ด้วยกันแต่เป็นคนละอัน ค่อยๆ ฝึก โอกาสที่จะได้มรรคได้ผลในชีวิตนี้ โสดาบันไม่ใช่ยากอะไรนักหนาหรอก ทำให้ถูก ทำให้พอ อดทน ทำแล้วก็ขี้เกียจ ไม่ได้หรอก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 8 ตุลาคม 2565

Direct download: 651008.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ถ้าตัวเราไม่มี ก็ไม่มีที่รองรับความทุกข์อีกต่อไป เพราะสิ่งที่รองรับความทุกข์ไว้คือตัวขันธ์ 5 ย่อๆ ลงมาก็คือรูป นาม กาย ใจของเรา สังเกตดูความทุกข์ไม่อยู่ที่กายก็อยู่ที่ใจ ถ้ามันเห็นความจริง กายก็ไม่ใช่เรา ใจมันก็ไม่ใช่เรา ความทุกข์มันก็ไม่มีที่ตั้ง สุดท้ายภาวนาแล้วก็จะเข้าถึงสุญญตา คือเห็นมันว่าง ร่างกายนี้ก็ว่าง โลกข้างนอกก็ว่าง จิตก็ว่างเสมอกันหมด มันก็เข้าถึงความสงบสุข ยิ่งเราปล่อยวางความยึดถือในตัวในตนได้ ก็ยิ่งสบายยิ่งเบา ค่อยๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ ทีแรกมันก็ละความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นเรา สุดท้ายมันเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้งแล้ว มันก็หมดความยึดถือในขันธ์ 5 หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 9 ตุลาคม 2565

Direct download: 651009.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00pm +07

เราก็จะเห็นแต่ละตัวๆ แต่ละสภาวะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปทั้งสิ้น เราต้องการจะมาเห็นตรงนี้ เราไม่ได้ต้องการเห็นว่าราคะไม่เที่ยงแต่โทสะมันเที่ยง ไม่ใช่ ทุกตัวเหมือนกันหมดเลย สุขหรือทุกข์ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ กุศลหรืออกุศลก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดูให้มันเห็นไตรลักษณ์ ย้ำ ขีดเส้นใต้คำว่าเห็น ไม่ใช่คิด ต้องเห็นเอา ฉะนั้นวิปัสสนา วิปัสสนะก็คือ วิ แปลว่าแจ้ง ปัสสนะ คือการเห็น ต้องเห็นเอา คิดเอาไม่ได้ เพ่งเอาก็ไม่ได้ ต้องเห็นเอา พอเราสะสมการเห็นถูกไปเรื่อยๆ เราสะสมการเห็นถูกบ่อยๆๆ เห็นไตรลักษณ์ อะไรเกิดขึ้นก็เห็นไตรลักษณ์ๆ ต่อไปถึงจุดหนึ่งจิตมันสรุปเอง สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นดับ แล้วทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งสิ้นเลย หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 2 ตุลาคม 2565

Direct download: 651002.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

การพัฒนาศีลก็คือความปรุงแต่งที่ดี การพัฒนาสมาธิก็คือความปรุงแต่งที่ดี การพัฒนาก็คือความปรุงแต่งที่ดี พัฒนาปัญญาเป็นความปรุงแต่งที่ดี ทั้งหมดนี้เป็นความปรุงแต่งทั้งสิ้น แต่ต้องปรุงแต่ง ถ้าเราไม่ปรุงแต่งศีล สมาธิ ปัญญา จิตมันก็ปรุงแต่งความชั่ว เพราะมันเคยชินที่จะชั่ว ฉะนั้นเราพัฒนา ทำไปเรื่อยๆ ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่เป้าหมาย ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นความปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เอาความปรุงแต่งมาเป็นจุดหมายปลายทาง จุดหมายปลายทางของเราพ้นจากความปรุงแต่ง คือตัววิสังขาร ตัวนิพพาน หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 1 ตุลาคม 2565

Direct download: 651001.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ธรรมะมีหลายระดับ ระดับต้นๆ ทำให้เราอยู่กับโลกอย่างมีความสุข ระดับสูงขึ้นไปเป็นเรื่องธรรมะเพื่อการพ้นจากโลก อันแรกก็คือคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้อยากพ้นโลก แต่อยากมีความสุข ท่านก็สอนธรรมะให้ ให้รู้จักทำทาน ให้รักษาศีล เพราะฉะนั้นเราตั้งอกตั้งใจ มีทาน มีศีล มีภาวนา ทำไว้สำหรับฆราวาส สำหรับฆราวาสและพระที่ต้องการพ้นทุกข์ ก็มีศีล มีสมาธิ และเจริญปัญญาด้วย เจริญปัญญาคือการเห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นจิตอย่างที่จิตเป็น มันเป็นอย่างไร มันเป็นไตรลักษณ์ นี่เรียกว่าเจริญปัญญา ตัวที่ทำให้พ้นทุกข์ คือปัญญา หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 25 กันยายน 2565

Direct download: 650925.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เราต้องพยายามฝึกตัวเอง มีวินัยในตัวเอง แล้วก็พยายามฝึกสติปัฏฐาน ทุกวันๆ ต้องฝึก วิธีฝึกสติปัฏฐานก็คือ ต้องมีฐานที่ตั้งของสติเสียก่อน ฐานที่จะทำให้เกิดสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าท่านกำหนดไว้ให้แล้ว คือกาย เวทนา จิต ธรรม พวกเราต้องมีสติไว้ แต่สตินั้นเป็นสติปัฏฐาน ระลึกรู้กาย ก็คือรู้สึกกายอย่างที่กายเป็น ระลึกรู้เวทนาอย่างที่เวทนาเป็น ระลึกรู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้อย่างที่มันเป็น ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานเรื่อยๆ มีวิหารธรรมที่เราทำได้ ที่ทำไม่ไหวก็เว้นไปก่อน ไม่ต้องไปทำ อย่างดูกายก็ดูในส่วนที่ทำได้ ดูจิตก็ดูในส่วนที่ทำได้ แล้วดูเนืองๆ ดูเรื่อยๆ ดูบ่อยๆ รู้สึกอยู่ในกายบ่อยๆ รู้สึกอยู่ในจิตบ่อยๆ รู้สึกบ่อยๆ แล้วสติมันจะเข้มแข็งขึ้น หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 24 กันยายน 2565

Direct download: 650924.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 10:00am +07

การภาวนาไม่ใช่เรื่องยากอะไร ที่มันยากก็เพราะพวกเราคิดมากเกินไป เราคิดว่าการปฏิบัติจะต้องทำอย่างนั้นจะต้องทำอย่างนี้ ซึ่งมันเกินความจำเป็น เกินธรรมดา คิดว่าปฏิบัติไปแล้วจะได้อะไร สิ่งที่ได้ต้องวิเศษวิโส ผิดมนุษย์มนาเกินธรรมดา คือมันวาดภาพผิดมาตั้งแต่เริ่มต้น วิธีปฏิบัติก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เราไปคิดเอามากมาย ต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ แล้วก็เริ่มเถียงกัน วิธีไหนดีกว่าวิธีไหน ซึ่งมันไม่มีนัยยะอะไรเท่าไรหรอก อันนี้เป็นวิธีการ เป็นกลยุทธ์ที่แต่ละคนก็เลือกใช้วิธีที่เหมาะกับตัวเอง แต่ไม่ว่าเราจะใช้วิธีอะไร หลักปฏิบัติต้องแม่น หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช บ้านจิตสบาย 18 กันยายน 2565

Direct download: 650918.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

บางคนภาวนาแล้วก็เห็นโลกพระนิพพาน อันนั้นเป็นนิมิต บางท่านท่านเข้าใจความจริง อย่างบางองค์ท่านภาวนาดี แต่ท่านชอบพูดถึงโลกนิพพาน อันนั้นเป็นอุบายให้เราอยากได้นิพพานไปก่อน แล้วพอเราเจริญสติปัฏฐานมากๆ เราไม่ยึดรูป ไม่ยึดนาม ก็รู้จักนิพพานตัวจริงได้ เป็นอุบายของท่านบางองค์ สติปัญญาครูบาอาจารย์ไม่ธรรมดา สอนคนโง่ๆ อย่างเราให้ก้าวหน้าขึ้นมาได้ ด้วยอุบายวิธีของท่านมากมาย แต่พอเราเข้าใจแล้ว มันมีวิธีที่ลัดสั้นที่สุดเลย ไม่เห็นจะต้องอ้อมค้อมมาไกลแสนไกล ลัดสั้นเลยก็คือเรียนรู้เข้ามาที่จิตเลย กุศลเกิดที่จิต อกุศลเกิดที่จิต มรรคผลเกิดที่จิต ไม่ได้เกิดที่อื่นหรอก มรรคผลไม่ได้เกิดที่ดิน น้ำ ไฟ ลม กุศลไม่ได้เกิดที่ดิน น้ำ ไฟ ลม อกุศลก็ไม่ได้เกิดที่ดิน น้ำ ไฟ ลม มันเกิดที่จิตนี้ล่ะ ฉะนั้นถ้าเราภาวนา สุดท้ายมันจะตัดตรงเข้ามาที่จิต หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 17 กันยายน 2565

Direct download: 650917.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ความอยากมันเป็นเจ้านายที่มองไม่เห็นตัว มันบงการให้จิตใจของเราวิ่งพล่านๆ ไปตลอดเวลา เป็นตัวร้ายกาจมาก ทุกครั้งที่ความอยากเกิดขึ้น ความทุกข์จะเกิดขึ้นเสมอ ถ้าจิตมันยอมรับความจริงได้ ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา อะไรเกิดขึ้นกับกาย อะไรเกิดขึ้นกับใจ มันจะไม่ทุกข์หรอก เพราะตัณหามันไม่เกิด หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 11 กันยายน 2565

Direct download: 650911.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

การที่เราทำจิตตสิกขา คือการทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่เคลื่อนไป แล้วเราจะได้จิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา จิตที่ตั้งมั่นมีทั้งสมาธิที่ถูกต้อง มีทั้งสติที่ถูกต้อง จิตดวงนี้พร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว บางคนพอมีจิตที่ตั้งมั่นแล้ว ไม่ไปต่อก็ตั้งอยู่อย่างนั้นล่ะ อันนี้ก็น่าเสียดาย เหมือนเราชาร์จแบตเตอรี่เอาไว้เต็ม แล้วเราก็ไม่ได้ใช้ วางทิ้งไว้ให้แบตเตอรี่เสื่อม เพราะฉะนั้นเราทำสมาธิเสร็จแล้ว เราก็ต้องมาเดินปัญญาต่อ นี่คืองานที่สอง งานฝึกจิตให้เกิดปัญญา หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 10 กันยายน 2565

Direct download: 650910.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ชาวพุทธเราเอาชนะความอยากด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าท่านมองลงไปต่อ ว่าความอยากมันมาจากอะไร หลักของเราชาวพุทธ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จะมองไปว่า ต้นตอ ต้นเหตุของปัญหาคืออะไร แล้วเราก็ไปแก้ที่ต้นเหตุ นี่เป็นวิธีการของชาวพุทธ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นมาเป็นผล มันก็ต้องมีเหตุ ชาวพุทธเราเวลามีปัญหา เราจะมองไปที่ต้นเหตุของปัญหา อะไรเป็นเหตุ แล้วไปแก้ที่เหตุ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับ สิ่งนั้นก็ดับ นี่เป็นธรรมะสำคัญ พื้นฐานเลยของเราชาวพุทธ การที่จะดับผล เราดับที่ตัวผลไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็สอนอะไรเป็นเหตุของมัน แล้วก็สอนความดับ คือดับเหตุของมันนั่นล่ะ ถ้าเราดับเหตุของทุกข์ได้ ความทุกข์มันก็ดับ ฉะนั้นเราต้องดับที่ตัวเหตุ นี่คำสอนของพระพุทธเจ้า หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 4 กันยายน 2565

Direct download: 650904.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

เราจะปล่อยวางจิตได้ ก็ต้องเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ ถ้าเราไม่ได้เห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ มันไม่วางหรอก มันเหมือนที่เราปล่อยวางกาย เราเห็นกายมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็วาง จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เห็น ว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็ไม่วาง ถ้าเราเห็นแล้วมันถึงจะวาง เพราะฉะนั้นอย่างที่เรามาหัดดูจิตๆ เราก็จะมาเห็น จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตดีเกิดแล้วก็ดับ จิตชั่วเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตที่ไปดูเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปฟังเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปดมกลิ่น จิตที่ไปลิ้มรส จิตที่ไปรู้สัมผัสทางกาย เกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปคิดนึกทางใจ เกิดแล้วก็ดับ ตรงที่มันไปคิดนึกทางใจ ก็จะเกิดเป็นจิตสุขบ้าง จิตทุกข์บ้าง จิตดีบ้าง จิตโลภ โกรธ หลงบ้าง แต่จิตทุกชนิดนั้นเกิดแล้วดับ ถ้าเราเห็นอย่างนี้ถึงจุดหนึ่งมันจะวาง มันจะปล่อยวางจิตได้ ถ้าปล่อยวางจิตได้ มันก็ไม่มีอะไรให้ยึดอีกแล้ว หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 3 กันยายน 2565

Direct download: 650903.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

รู้จักเบรกบ้าง แล้วชีวิตจะมีความสุข ที่แย่งกันจะเป็นจะตาย สุดท้ายว่างเปล่า นอนหายใจแขม่วๆ นึกถึงทุกอย่าง มีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ เคยได้รับคำสรรเสริญก็ถูกเขาด่าอะไรอย่างนี้ แล้วอะไร มีสุขอยู่ก็มีทุกข์ได้ โลกมันเป็นอย่างนั้น หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ฉะนั้นรู้จักพัก รู้จักเบรก แล้วชีวิตจะก้าวหน้าทั้งทางโลกทางธรรม หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 28 สิงหาคม 2565

Direct download: 650828.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

คำว่า “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” ฟังแล้วมันแปลไม่ออกไม่รู้ว่าคืออะไร มันไม่ใช่ภาษาของคนรุ่นเราแล้ว ธรรมะที่แปลจากบาลีเป็นพระไตรปิฎกภาษาไทย ก็มีสมัยรัชกาลที่ 5 เวลาร้อยกว่าปี ภาษามันเคลื่อนไปเยอะแล้ว เราฟังบางทีไม่เข้าใจแล้ว ก็ต้องแปลไทยเป็นไทยอีกทีหนึ่ง “กายในกาย” เป็นอย่างไร หมายถึงเราไม่ต้องเรียนกายทั้งหมด เราไม่ต้องเรียนเวทนาทั้งหมด เราไม่ต้องเรียนจิตทั้งหมด ไม่ต้องเรียนธรรมะทั้งหมด เราเรียนบางอย่างบางข้อ ถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องนั้นแล้ว เราจะเข้าใจธรรมะทั้งหมด เป็นการสุ่มตัวอย่างมาเรียน ไม่ได้ผิดอะไรกับการทำงานวิจัยภาคสนามเลย การที่พระพุทธเจ้าสอนสติปัฏฐาน สอนไม่ได้แตกต่างกับหลักที่หลวงพ่อบอกเลย สุ่มตัวอย่างมาเรียน ถ้าเข้าใจในสิ่งที่เรียนแล้วจะเข้าใจทั้งหมด แล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้เราไปสุ่มส่งเดช ท่านกำหนดหัวข้อมาให้แล้ว หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 27 สิงหาคม 2565

Direct download: 650827.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ตรงที่เรามีสติรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของตัวเอง หลวงพ่อมอง มันแทบจะเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติจริงๆ การปฏิบัติไม่ใช่นั่งสมาธิเดินจงกรมเฉยๆ มันตั้งแต่ว่าขัดเกลาตัวเองด้วยศีล หรือดูแลคำพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิตของตัวเองให้ดี ไม่ทำไปด้วยอำนาจของกิเลส แล้วก็ถัดจากนั้นตัวสมาธิมันก็จะเกิดขึ้น คือจิตใจเราเป็นปกติ ไม่ถูกกิเลสผลักดันให้วิ่งพล่านๆ เหมือนหมาถูกน้ำร้อน พอจิตใจเราเป็นปกติ จิตใจมันก็สงบ เพราะฉะนั้นศีลไม่ใช่เรื่องเล็ก ถ้าศีลของเราเสีย อย่ามาคุยเรื่องสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง อย่ามาพูดเรื่องเจริญปัญญา ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นจุดสำคัญบอกแล้วว่าศีลเราจะดี ถ้าเราคอยรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 21 สิงหาคม 2565

Direct download: 650821.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องเรียก กรรมวาที เน้นย้ำเรื่องกรรม การกระทำก็มีผลเป็นกิริยวาที เป็น วิริยวาที วิริยวาทีก็คือต้องมีความเพียร ต้องมีความเพียรต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้กับความไม่รู้ของเรา รู้ ต่อสู้ความอยาก ก็เจริญกุศล ให้ถึงพร้อมทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ต้องเจริญขึ้นมา เพียร เพียรลดละอกุศลทั้งหลายที่เรามีอยู่ เพียรเจริญกุศลให้ถึงพร้อม ต้องมีความเพียร ต้องอดทน แล้วต้องมีความเชื่อมั่นในเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม ชาวพุทธถ้าไม่เชื่อเรื่องกรรมกับเรื่องผลของกรรม ก็เป็นชาวพุทธไม่ได้ ชาวพุทธเราเชื่อเรื่องกรรม “เราทำกรรมอันใดไว้จะเป็นบุญหรือเป็นบาป เราก็จะต้องรับผลของกรรมนั้นสืบไป” จะเชื่ออย่างนี้ ฉะนั้นอะไรที่งมงายไม่ใช่ชาวพุทธหรอก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 20 สิงหาคม 2565

Direct download: 650820.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

พระมหากัสสปะท่านเคยตั้งข้อสังเกต ท่านพูดกับพระพุทธเจ้า ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมสมัยต้นพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ สอนธรรมะ พระอรหันต์มีมาก พระวินัยมีน้อย มาช่วงหลังๆ พระวินัยมีมากขึ้นๆ พระอรหันต์มีน้อยลงๆ ฉะนั้นความเป็นโลกของวัดต่างๆ มีมาตั้งแต่พุทธกาลแล้ว พวกอินทรีย์แก่กล้ามาพบพระพุทธเจ้า ฟังธรรม แล้วก็พวกนี้แสวงหาความพ้นทุกข์อยู่แล้ว อย่างพวกปัญจวัคคีย์ เขาอุตส่าห์บำเพ็ญตบะ บำเพ็ญโน้นบำเพ็ญนี้ เป็นนักบวชอยู่แล้ว อยากพ้นทุกข์ แต่ไม่รู้ทาง พอพระพุทธเจ้าชี้ทางให้ แต่ละองค์ก็ไปลิ่วเลย เพราะท่านเหล่านี้ท่านอยากพ้นทุกข์อยู่แล้ว หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 14 สิงหาคม 2565

Direct download: 650814.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

คนที่เข้ามาศึกษามาปฏิบัติธรรม มีความต้องการที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่ก็ปรารถนาความสุข น้อยคนที่จะปรารถนาความพ้นทุกข์ ปรารถนาความสุขก็พยายามทำความดีทั้งหลาย ทำทาน ถือศีล คนที่ภาวนาแล้วปรารถนาความพ้นทุกข์มีน้อยจริงๆ ส่วนมากจะขอเวียนว่ายตายเกิดอย่างมีความสุขไปอีกนานๆ คนที่ปรารถนาจะพ้นทุกข์พ้นการเวียนว่ายตายเกิดมีน้อย ฉะนั้นมันไม่แปลกหรอก ทำไมคนทำทาน ถือศีล ทำบุญมีจำนวนมาก แต่คนซึ่งจะบรรลุมรรคผลมีจำนวนน้อย เราก็เลือกเอา เราต้องการอะไร ต้องการเวียนว่ายตายเกิดอย่างมีความสุข เราก็ทำบุญไป ต้องการสิ่งที่สูงกว่านั้น คือความพ้นทุกข์ ก็เจริญศีล สมาธิ ปัญญา ต้องทำ มันจะตัดภพตัดชาติของเราให้สั้นลงๆ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 13 สิงหาคม 2565

Direct download: 650813.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ถ้าขาดสติเมื่อไรก็คือประมาทเมื่อนั้น มีสติก็ไม่ประมาทนั่นล่ะ นี่คือธรรมะสำคัญที่พระพุทธเจ้าสอนเรา นาทีสุดท้ายที่ท่านจะนิพพาน ช่วงเวลาสุดท้ายที่ท่านจะนิพพาน ท่านบอกพวกเราให้ทำประโยชน์ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท คำว่าไม่ประมาทคือเราต้องมีสติอยู่กับปัจจุบันไป ถ้าเราทิ้งปัจจุบันก็เรียกว่าเราประมาท คือเราไปเพ้อฝันถึงอดีตเรียกว่าประมาท เพราะว่าเราทำลายเวลาให้ล่วงไปเปล่าๆ ในความฝัน ถ้าเราไปห่วงไปกังวลถึงอนาคต เครียดทั้งๆ ที่ปัญหายังไม่ได้เกิด โง่ไหม เครียด กลุ้มใจตั้งแต่ปัญหายังไม่เกิดเลย พอปัญหาเกิดแล้วก็ตีโพยตีพายจะให้คนโน้นช่วยจะให้คนนี้ช่วย ใครเขาไม่ช่วยก็โมโหอีกอะไรอย่างนี้ ไม่ได้เรื่อง ฉะนั้นเราใช้ปัจจุบัน มีสติอยู่กับปัจจุบัน ใช้อดีตเป็นบทเรียน วางแผนถึงอนาคต มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันไป มีสติไปทุกขณะๆ หายใจออก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 7 สิงหาคม 2565

Direct download: 650807.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

โลกไม่มีอะไรมีแต่ทุกข์ ผู้มีปัญญาก็หาที่พึ่งที่อาศัย ที่พึ่งที่อาศัยของเราก็คือสรณะนั่นเอง ในสังสารวัฏสิ่งที่จะเป็นที่พึ่งที่อาศัยของเราได้จริงๆ ก็มีแต่พระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ของอื่นไม่ใช่สรณะ ไม่ใช่ที่พึ่ง ที่อาศัยได้ชั่วครั้งชั่วคราว ทำอย่างไรเราจะสามารถมีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์มาเป็นสรณะ และเป็นที่พึ่งในจิตใจของเราได้ ตัวนี้เราจะต้องศึกษา ต้องปฏิบัติ สิ่งที่ต้องรักษาคือศีล สิ่งที่ต้องฝึกซ้อมอยู่เสมอก็เรื่องของสมาธิ สิ่งที่ต้องพัฒนาให้เจริญไปเรื่อยๆ คือปัญญา การทำ 3 อย่างนี้ 3 สิ่งนี้ จะทำให้เรามีจิตใจที่พัฒนาสูงขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเราก็มีที่พึ่ง เราเข้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 6 สิงหาคม 2565

Direct download: 650806.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 6:00am +07

ถ้าพวกเราดำรงชีวิตไม่ถูก ชีวิตเราก็วุ่นวาย ชีวิตที่มันวุ่นวาย เคร่งเครียด ภาวนายาก ถ้าเราดำรงชีวิตเราอย่างถูกต้อง ทำหน้าที่ของเราอย่างถูกต้อง จิตใจไม่ฟุ้งซ่านมาก การภาวนาไม่ใช่เรื่องยาก เพราะฉะนั้นโลกิยธรรมที่ดี ก็หนุนเสริมการพัฒนาไปสู่โลกุตตรธรรม ถ้าโลกิยธรรมยังทำได้ไม่ดีเลย แล้วหวังโลกุตตรธรรม มันทำไม่ได้หรอก ฉะนั้นธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนทั้งหมด เป็นประโยชน์แล้วก็เกื้อกูลเราเพื่อความพ้นทุกข์ทั้งสิ้น หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2565

Direct download: 650731.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 4:00pm +07

ถ้าเราภาวนาถึงจุดหนึ่งเราจะรู้ โลกนี้เหมือนงูพิษจริงๆ รูปก็เป็นงูพิษ เสียงก็เป็นงูพิษ มันทำให้จิตเราเสียหายได้ทั้งหมด พอเราภาวนา พอจะอยู่กับโลก เหมือนอยู่ในหมู่งูพิษล้อมตัวเราไว้ทั้งหมดเลย มันจะโดนฉกกัดเมื่อไรก็ได้ จิตมันจะ Alert มีสติ มีสมาธิ คอยระมัดระวังอยู่ อินทรียสังวรเกิดขึ้น ศีลอัตโนมัติของเราเกิดขึ้น จิตเราก็ตั้งมั่นอัตโนมัติขึ้นมา มันจะสำรวม มันจะระวัง พอฝึกมันจะเห็นผล อยู่กับโลกไม่ได้ โลกร้อนเป็นฟืนเป็นไฟเลย มันไร้สาระหาแก่นสารอะไรไม่ได้ จำเป็นต้องอยู่กับมันก็อยู่กับมัน แต่อยู่กับมันเหมือนอยู่ท่ามกลางฝูงงู โลกนี้มีแต่ทุกข์ โลกนี้ไม่มีอะไรหรอก เผลอไปยึดไปถือเข้านิดเดียวก็ทุกข์แล้ว นี่ใจก็จะยิ่งน้อมๆๆ มาหาการปฏิบัติมากขึ้นๆ ช่วงแรกๆ ต้องฝืนใจ ต้องน้อมใจ ต้องชักชวนให้จิตใจปฏิบัติ แต่เมื่อเราปฏิบัติไปถึงช่วงหนึ่ง ไม่ต้องชักชวนแล้ว จิตใจมันเอือมระอาต่อโลกข้างนอก มันอยากปฏิบัติของมันเอง ตรงนี้อัตราเร่งของความก้าวหน้าในการปฏิบัติมันก็จะมากขึ้นๆ ยิ่งภาวนายิ่งไปเร็วขึ้นเรื่อยๆ อันนี้ไม่ว่าพระหรือโยมก็ทำได้ ขอให้ตั้งใจเถอะ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 24 กรกฎาคม 2565

Direct download: 650724.mp3
Category:Dhamma Talks -- posted at: 4:00pm +07

1 « Previous 5 6 7 8 9 10 11 Next » 67